บางครั้ง เกิดเป็นความเสียหายต่องานของเรา หรือต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
คำถามที่อาจารย์เอ้ถามผู้เรียนในคลาสสติหลายครั้งคือ “ตอนนี้รู้สึกอะไรอยู่ ตอนนี้คิดอะไรอยู่ ตอนนี้ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่” ซึ่งเป็นการเชิญชวนชวนให้ผู้เรียนกลับมาอยู่กับตัวเอง
พวกเราสมัยนี้จิตใจล่องลอยไปอยู่กับเรื่องภายนอกมากกว่าอยู่กับเนื้อกับตัว การเสพโซเชียลมีเดียของพวกเราตั้งแต่ตื่นยันหลับยิ่งทำให้เราห่างไกลจากการรู้จักตัวเองมากไปเรื่อยๆ
เคยมีผู้เรียนถามอาจารย์เอ้ว่า “ความคิดและความรู้สึก ต่างกันอย่างไรคะ” ซึ่งสะท้อนความจริงว่าเรารู้จักตัวเองน้อยลงๆทุกที
ความคิด คือ “เสียงในหัว” ที่เราพูดกับตัวเอง พากย์เหตุการณ์ที่เราเจอ บางทีก็บ่นโน่นนี่ บางทีก็ถามตัวเอง หรือพูดในสิ่งที่ปากเราพูดออกมาไม่ได้ เสียงในหัวนี้ทุกคนมีอยู่ตลอดเวลา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ยิน เพราะไม่เคยฝึกฟังมัน ส่วน ความรู้สึก คืออารมณ์ที่ใจเราสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลมาจากความคิด เช่น ชอบ ไม่ชอบ โกรธ เบื่อ กังวล สบาย ฯลฯ
บางครั้งความคิดเกิดก่อน บางครั้งความรู้สึกเกิดก่อน แต่ที่แน่ๆคือ ความคิดของเราจะปรุงแต่งความรู้สึก อาจทำให้ยิ่งรู้สึกเข้มข้นขึ้น หรือเบาบางลงได้ เช่น
การที่ความคิดเกิดก่อนความรู้สึก เช่น คุณทำงานเสร็จก็เดินไปส่งหัวหน้า หัวหน้าพูดว่า “อ้อ เสร็จแล้วหรอ?” คุณได้ยินแล้วก็คิด ตีความต่อและรู้สึกได้หลายแบบ เช่น
- ได้ยินหัวหน้าพูด “อ้อ เสร็จแล้วหรอ” แล้วคุณคิด ตีความว่า หัวหน้าดุว่าส่งงานช้า จึงรู้สึกเสียใจ
- ได้ยินหัวหน้าพูด “อ้อ เสร็จแล้วหรอ” แล้วคุณคิด ตีความว่า หัวหน้าเปิดการสนทนา รู้สึกดีที่เขาอยากคุยกับเรา
- ได้ยินหัวหน้าพูด “อ้อ เสร็จแล้วหรอ” แล้วคุณคิด ตีความว่า หัวหน้าชมที่ส่งงานเร็ว รู้สึกปลื้ม
เห็นไหมว่า เราคิดอะไร มีผลต่อความรู้สึกเราทันที
หรือบางที ความรู้สึกเกิดก่อน เช่นเรากังวล แม้ทีแรกก็ไม่ชัดเจนว่ากังวลอะไร ความคิดทั้งหลายก็ตามมา คิดไปต่างๆ เช่น งานจะถูกต้องไหม เจ้านายจะถูกใจไหม เราจะตอบรู้เรื่องไหม ยิ่งคิดยิ่งกังวล ความคิดเหล่านี้ทำให้ความรู้สึกมันเข้มข้นขึ้น ถ้าอยากกังวลน้อยลง ต้องเปลี่ยน “เสียงในหัว” ใหม่ การจะเปลี่ยนความคิดหรือเสียงในหัวใหม่ ต้องมีสติ นั่นคือต้องรู้ตัวว่ากำลังคิดสิ่งที่ให้ผลเสียอยู่
ไม่ว่าความคิดจะเกิดก่อน หรือจะรู้สึกก่อน มันจะขยายผลใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ความคิดต่อยอด ความรู้สึกเพิ่มพูนไป จนว่าคุณจะรู้สึกตัว ดังนั้น คิดก่อน หรือ รู้สึก ก่อนก็ไม่ได้สำคัญเท่าเรารู้ตัวหรือไม่ว่าเราคิดอยู่ หรือ รู้สึกอยู่ ดังนั้น ฝึกสติไว้ เป็นเกราะป้องกันตัว ป้องกันใจ ไม่ให้ความคิด ความรู้สึกของคุณเองมา ทำร้ายคุณได้