เป็นหัวหน้า ก็พลาดได้

ในวิชาภาวะผู้นำ หัวหน้าจะถูกสอนให้ใช้เหตุผลแทนการตำหนิลูกน้องด้วยอารมณ์แต่เรื่องจริงที่ต้องยอมรับก็คือหัวหน้า ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนนึ่ง ที่มีความรู้สึก โกรธได้ เจ็บได้ ร้องไห้เป็นเหมือนคนอื่น และ ด้วยความที่ต้องดูแลคนข้างล่าง พร้อมกับแบกแรงกดดันและความคาดหวังจากคนเบื้องบน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะประคองใจ เก็บอารมณ์ แจ่มใสอยู่ได้ตลอดเวลาในภาวะที่ดูเหมือนรู้สึกว่าไม่มีอะไรได้ดั่งใจเลย

วันนี้อินสปายรา จะมาให้เทคนิคว่า วันใดที่คุณหัวหน้า รู้ตัวว่า พลาดพลั้ง ยั้งอารมณ์ไม่อยู่ เผลอเหวี่ยงปรี๊ดวีนลูกน้องไปแล้ว จะกู้ความสัมพันธ์กลับมาอย่างไร

  1. ฟังความรู้สึกตัวเอง ถ้าหัวหน้าฝึกสติและการรู้เนื้อรู้ตัวมาดี และเป็นคนที่มีรากฐานคุณธรรมที่ชัดเจน เมื่อเราเป็นฝ่ายผิด อารมณ์เรานี่แหละจะฟ้องว่า มันมีบางอย่างไม่โอเค ขอให้ฟังเสียงภายในหัวของเราที่บอกว่าไม่โอเค รับรู้ความรู้สึกอึดอัด ความไม่สบายใจ ความรู้สึกผิด ความคิดที่อยากย้อนเวลากลับไปลบคำพูดแรงๆ ที่พูดใส่ลูกน้อง (ไม่น่าเลยเรา พูดแรงเกินไปจริงๆ)
  2. พิจารณาดูว่าทำไมเราทำเช่นนั้นไป เราพูดเพื่ออะไร ทำเพราะสนองความรู้สึกอะไรของเรา อะไรเป็น “ชนวน” จุดให้เราตกไปในวงจรความคิด-ความรู้สึก-การกระทำนั้น เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองดีขึ้นและเห็นชนวนได้ทันเมื่อมันเกิดขึ้นคราวหน้า
  3. หัดพูดขอโทษ และทำในสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราเสียใจกับการกระทำเรา อาจไม่ต้องถึงกับดราม่าพูดไปซับน้ำตาไป แต่สำคัญต้องจริงใจ หัวหน้าหลายคนคิดว่าการขอโทษลูกน้องเป็นการเผยไต๋ ไม่รักษาฟอร์มความเป็นหัวหน้า หรือจะเสียการปกครอง แต่ที่จริงแล้วคุณจะเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องเห็นว่า เมื่อคุณทำผิด คุณก็กล้ายืดอกรับอย่างแมนๆ และพร้อมขอโทษอย่างจริงใจ ซึ่งคุณจะได้ใจและได้รับความเคารพนับถือเพิ่มขึ้นว่าเป็นคนจริง

หากคุณจริงใจกับเพื่อนร่วมทีม และพยายามพัฒนาตัวเองและพวกเขาอยู่เสมอ เชื่อเถอะว่าเขาสัมผัสได้ เขารู้ค่ะ

จากความสัมพันธ์ที่พังไม่เป็นท่าไปแล้ว จะกลับมาแน่นแฟ้นกว่าเดิม เพราะลูกน้องรับรู้ได้ว่าคุณจริงใจและเห็นความสำคัญของความรู้สึกของพวกเขาแค่ไหน โอกาสที่คุณจะได้รับความจริงใจกลับมาก็เพิ่มขึ้นค่ะ

แบ่งปันเนื้อหานี้:

Facebook
Twitter
LinkedIn
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ

ผู้ก่อตั้งบริษัท อินสปายรา จำกัด และสร้างสรรค์หลักสูตรอบรมและหลักสูตรการโค้ชเพื่อดึงศักยภาพของบุคลากรโดยใช้หลักการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Action Learning)

หัวข้อในบทความนี้

บทความอื่น ๆ

ดูบทความทั้งหมด