ทัศนคติ คือนิสัยทางความคิด

ทัศนคติ คือนิสัยทางความคิด

­­­มีหลายคำที่ใช้พูดถึงสิ่งเดียวกัน คือ ทัศนคติ มุมมอง กรอบความคิด หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะพบคำว่า mindset, attitude, perspective  ซึ่งไม่ว่าจะใช้คำใด ก็มีความหมายครอบคลุมถึงกระบวนการของการตีความเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอ ซึ่งโยงให้เกิดความรู้สึกแบบหนึ่ง และมีข้อสรุปแบบหนึ่ง และอาจถูกสะท้อนออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำแบบหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไม่ว่าจะใช้คำไหน คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ทัศนคติเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก (จริงหรือ ?)

จริง ๆ แล้ว ทัศนคติคือนิสัยทางความคิด “นิสัย” ก็คือสิ่งที่เราทำเป็นประจำ ทำซ้ำ ๆ จนมันกลายเป็นความเคยชิน เป็นอัตโนมัตินั่นเอง ดังนั้นทัศนคติก็คือความคิดที่เราคิดซ้ำ ๆ นั่นเอง ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น

เมื่อมองอย่างนี้ เราจะเห็นว่าถึงแม้สิ่งที่เราเคยชินจะเป็นสิ่งเปลี่ยนยาก แต่เมื่อมันเป็นเพียงความเคยชิน เราก็ฝึกให้ตัวเองเคยชินต่อสิ่งใหม่ได้ เราฝึกได้ เราเปลี่ยนได้!

เช่น เมื่อเราออกจากบ้านเจอรถติด เราก็คิดกับตัวเองว่า “น่าเบื่อจังวุ้ย” พอเข้าที่จอดรถต้องวนอยู่นาน เราก็คิดกับตัวเองว่า “เซ็งว่ะ”  พอเดินเข้าออฟฟิสมาเห็นเพื่อนร่วมงานจับกลุ่มคุยกัน เราก็คิดกับตัวเองว่า “พวกนี้น่ารำคาญ เอาแต่เม้าท์คนอื่น”  คนที่พบเห็นอะไรแล้วคิดแบบนี้ ก็จะชินและมีทัศนคติไปในทางลบ คือเบื่อหน่ายชีวิตและผู้คน

ส่วนอีกคน เจอเหตุการณ์เดียวกันอาจคิด (ซึ่งก็คือการแปลความ) ต่างกัน เช่น รถติดอาจคิดว่า “คนไทยนี่จริง ๆ รวยนะ มีรถกันทุกคน” พอวนในที่จอดรถคิดว่า “ใกล้ละ ๆ ช่องหน้าต้องเป็นของเรา!” หรือเจอเพื่อนร่วมงานจับกลุ่มคุยกันก็คิดว่า “พวกเขาก็ฮาดีนะ”  คน ๆ นี้ก็จะชินและมีทัศนคติไปในทางบวก คือเห็นชีวิตเป็นความสุขและความหวัง

ทำไมคนแรกและคนที่สองจึงคิดไม่เหมือนกัน ? คำตอบคือหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก หรือการได้รับอิทธิพลภายหลังเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่นสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ คนที่เราคลุกคลีด้วยในชีวิต การเลือกอ่าน ฟัง ดูหนังดูละครแบบใดแบบหนึ่ง ทุกอย่างล้วนมีผลต่อทัศนคติของเรา โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจเลือก

แต่ข่าวดีคือ เราเลือกได้!  การอ่าน ฟัง คลุกคลีกับคนที่มีทัศนคติคล้ายกัน เราสามารถเรียนรู้สิ่งดี ๆ จากเขาและเป็นคล้ายเขามากขึ้น เราสามารถสอนสมอง สอนใจของเราได้ คนที่เกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่ดี อาจจะโชคดีเพราะได้สัมผัสและซึมซับสิ่งดี ๆ โดยไม่รู้ตัว แต่คนที่ไม่มี เราสามารถหามาให้ตัวเองได้ด้วยการอ่านและฟัง เพียงแต่เราต้องกลั่นกรอง เลือกอ่านหนังสือดี ๆ เลือกฟังคนที่เขาประสบความสำเร็จและเป็นคนดี แล้วเราจะค่อย ๆ ทำตามเขาเป็น

คนที่เรียนการเขียนซอฟต์แวร์จะเคยได้ยินว่า Garbage in, garbage out คือเมื่อใส่ข้อมูลขยะไม่น่าเชื่อถือ ผลก็ออกมาเป็นการวิเคราะห์ขยะไม่น่าเชื่อถือ สมองและใจก็เหมือนกัน หันมาใส่ใจกับสิ่งที่เราใส่ให้สมองและจิตใจของเราทุก ๆ วันกันเถิด ฝึกสมองและอบรมจิตใจของเราให้ไปในทางที่มีประโยชน์และความสุข

ทุกคนทำได้และเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนต้องทำเอง!

แบ่งปันเนื้อหานี้:

Facebook
Twitter
LinkedIn
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ

ผู้ก่อตั้งบริษัท อินสปายรา จำกัด และสร้างสรรค์หลักสูตรอบรมและหลักสูตรการโค้ชเพื่อดึงศักยภาพของบุคลากรโดยใช้หลักการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Action Learning)

หัวข้อในบทความนี้