วันที่เจ็บปวดที่สุด จะลุกขึ้นยืนอีกครั้งได้อย่างไร

วันที่เจ็บปวดที่สุด จะลุกขึ้นยืนอีกครั้งได้อย่างไร

ด็อกเตอร์ลูซี่ โฮน (Lucy Hone) สูญเสียลูกสาวอายุ 12 ขวบในอุบัติเหตุรถยนต์ ในเช้าวันแม่ปี 2014

การสูญเสียลูกอย่างกะทันหัน นับเป็นความเจ็บปวดแสนสาหัสเพราะคนเป็นพ่อแม่ มักวาดภาพฝันให้ลูกเติบโตงดงาม และคาดหวังให้เราเป็นผู้ไปก่อน

วันที่เจ็บปวดที่สุด จะลุกขึ้นยืนอีกครั้งได้อย่างไร

ตลกร้ายก็คือ ลูซี่เป็นนักวิจัยเรื่อง Resilience (ความยืดหยุ่นเข้มแข็งทางจิตใจ) ผู้ซึ่งอุทิศตนในการใช้ความรู้ช่วยเพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ยากให้ได้เยียวยา และลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง

แต่วันนั้น ลูซี่ได้รับบททดสอบของชีวิต เธอกลายเป็นผู้ต้องรบการเยียวยาเสียเอง

เธอโยนคำแนะนำและทฤษฎีจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งหลายทิ้งไป เพราะเธอรู้สึกว่ามันไม่ช่วยอะไรมาก มีแต่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนผู้ถูกกระทำ สิ้นหวัง และไร้พลัง

สิ่งที่เธอต้องการคือความหวัง และวิธีฟันฝ่าความทุกข์นี้ไปได้

เธอตัดสินใจว่าจะเรียนรู้และหาวิธีช่วยตัวเองให้รอดจากประสบการณ์นี้ และเธอก็ได้ข้อสรุปมา 3 ข้อ จากการเดินผ่านวันที่มืดมนมาด้วยตัวเอง 

และนี่คือเคล็ดลับ 3 ข้อที่จะทำให้เราทุกคนมี Resilience เพิ่มขึ้น นั่นคือมีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจ ล้มแล้วลุกได้อย่างมั่นคง

ลูซี่บอกว่า คนที่มีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจจะคือคนที่ฝึกมองให้เห็นว่า:

1. ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต — ไม่มีใครเลยไม่เคยทุกข์ คนที่เห็นความจริงข้อนี้จะไม่มองว่าโลกกลั่นแกล้งตน แทนที่เธอจะวนคิดว่า “ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับฉันด้วย” เธอกลับคิดว่า “แล้วทำไมเรื่องนี้จะเกิดกับฉันไม่ได้ด้วยเล่า (ทำไมฉันต้องพิเศษกว่าคนอื่นเล่า)”  ตอนที่เสียลูกไป เธอบอกตัวเองว่า “นี่คือความจริงของชีวิตในตอนนี้ เป็นเวลาที่ฉันต้องเลือกว่าจะจมน้ำหรือว่ายน้ำ”

น่าเสียดายที่ความจริงข้อนี้เห็นได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะเราต่างหันแต่ด้านที่สวยงามของชีวิตมาอวดกันในสื่อโซเชียล เราพยายามให้ตัวเองเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องสดใสสวยงาม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย

2. เราสามารถเลือกโฟกัสในสิ่งดี – สมองมนุษย์มีต่อมเตือนภัยให้เราสังเกตเรื่องร้ายได้ชัด เพราะนั่นคือกลไกที่ช่วยให้เราอยู่รอดจากการถูกเสือกินมาตั้งแต่ยุคมนุษย์ถ้ำ แต่ในปัจจุบันแม้ไม่ถูกเสือกินแล้ว ต่อมเตือนภัยอาจทำงานค้าง เพราะเรารับข่าวแย่ๆ ในสื่อตลอดเวลา และสมองเราแยกแยะไม่ได้ว่านั่นคือแค่ข่าวหรือสิ่งที่เกิดจริงกับตัวเอง

คนที่มีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจไม่ได้ปฏิเสธข่าวร้าย แต่ก็เลือกสอนให้สมองหัดโฟกัสในสิ่งที่เป็นบวกด้วย ตอนนั้นลูกซี่ย้ำเตือนกับตัวเองว่า “ฉันจะถูกกลืนกินไปกับทุกข์นี้ไม่ได้นะ ฉันต้องรอด ยังมีสิ่งดีๆ รออยู่ในชีวิตมากมาย อย่างน้อยลูกสาวฉันก็ไม่ได้ตายอย่างช้าๆด้วยโรคร้ายที่ทรมานเธอ ครอบครัวและเพื่อนฝูงต่างเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเรา และเรายังมีลูกชายอีกสองคนที่ต้องการเรามาก” 

3. สิ่งที่ฉันทำอยู่ตอนนี้ ช่วยฉันหรือฉุดฉัน – มันง่ายมากที่จะเผลอจมกับความเศร้าโศก  คนที่มีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจจะฝึกหยุดสำรวจตัวเองแล้ว “เป็นผู้เลือก”  หลายคืนที่ลูซี่เผลอนั่งดูรูปเก่าๆ ของลูกสาว จิตใจก็เคล้าไปกับความเศร้า เมื่อเธอรู้ตัว เธอจะถามตัวเองว่า “ที่มานั่งดูรูปอยู่

แบบนี้ มันช่วยฉันหรือฉุดฉัน” แล้วเธอก็เลือกบอกตัวเองว่า “เอารูปไปเก็บซะแล้วเข้านอนเถิด จงใจดีกับตัวเองด้วย”  ฝึกถามตัวเองวันละหลายๆ ครั้ง

ดร. ลูซี่ บอกว่า resilience เป็นสิ่งที่ทุกคนฝึกได้ สิ่งที่คุณต้องการคือความเต็มใจที่จะฝึกและบ่มเพาะให้ตัวเอง

เราทุกคนทำได้ เราสามารถลุกขึ้นเดินต่อได้ แม้จะล้มแรงแค่ไหน

คงไม่มีใครอยากเจอทุกข์ในระดับนี้

แต่รู้ไหมว่า การล้มแล้วลุก เกิดขึ้นเล็กๆ ได้ในชีวิตประจำวันเราเสมอ ทุกครั้งที่เราทำอะไรผิดพลาด 

Resilience สัมพันธ์กับ Growth Mindset

ทั้งคู่คือการสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด เปลี่ยนมันเป็นพลังให้เราเก่งและแกร่งขึ้นได้

Let’s Grow!

#GrowthMindset #GrowthMindsetByInspira  #LetsGrow!

แบ่งปันเนื้อหานี้:

Facebook
Twitter
LinkedIn
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ

ผู้ก่อตั้งบริษัท อินสปายรา จำกัด และสร้างสรรค์หลักสูตรอบรมและหลักสูตรการโค้ชเพื่อดึงศักยภาพของบุคลากรโดยใช้หลักการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Action Learning)

หัวข้อในบทความนี้