ไปต่อไม่ได้ เพราะ Titanic Syndrome
ทำไงจะรอด?
มรสุมโควิดคราวนี้หนักหนามาก ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มหายไป คนตกงาน เศรษฐกิจครอบครัวพัง
ดร. นาเดีย เชเซมบาเยว่า (Dr. Nadya Zhexembayeva) เป็นที่ปรึกษาธุรกิจ เจ้าของกิจการ และผู้ก่อตั้ง Reinvention Society ซึ่งช่วยให้ธุรกิจและผู้คนรู้จักการ “ผันเพิ่ม” ตัวเองให้รอดพ้นวิกฤติต่างๆ
เธอเปรียบเทียบความล้มเหลวของธุรกิจ หรือคนที่ปรับตัวไม่ทัน กับการอับปางของเรือไททานิคที่โด่งดัง
เธอเรียกมันว่า “Titanic Syndrome” นั่นคือ 3 สาเหตุที่ทำให้นาวาชีวิตเราล่มท่ามกลางมรสุมคือความเปลี่ยนแปลง
ทำไมไททานิคจึงล่ม? มาดูกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มค่ะ 1.ไม่สอดส่องจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง (No Binoculars)
เชื่อไหม เรือที่อลังการที่สุดในยุค ไม่มีกล้องส่องทางไกลในค่ำคืนนั้น!!
จริงๆ น่ะมี แต่ถูกล็อคเก็บไว้ในตู้ บังเอิญเจ้าหน้าที่ถือกุญแจถูกสั่งไม่ให้เข้าร่วมการเดินทางอย่างกระทันหัน เขาเลยลืมส่งต่อกุญแจ ซึ่งภายหลังลูกกุญแจประวัติศาสตร์นี้ถูกนำมาประมูลขายด้วยราคาแพง
2. ได้ยินสัญญาณ แต่ประมาททะนงตน (Arrogance)
เรือละแวกนั้นหลายลำได้พยายามส่งข้อความมาเตือนว่ามีภูเขาน้ำแข็งข้างหน้า แต่คนรับโทรเลขไม่ใส่ใจเพราะเขากำลังยุ่งกับการรับส่งข้อความให้ผู้โดยสารชั้นเฟิร์สทคลาส เช่น “คืนนี้มีเกมโป๊กเกอร์ ใครสนใจบ้าง” “ดอกไม้สำหรับตกแต่งห้องอาหารจะมาพรุ่งนี้” ไททานิคเป็นเรือที่ได้ชื่อว่าสง่างามทรงพลังที่สุดแห่งยุคและ “ไม่มีอะไรแตะต้องได้” ทำให้คณะเจ้าหน้าที่ประมาทและคิดว่า “ไม่มีอะไรหรอก ไม่เป็นไรหรอก”
3. ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต (Hold on to past best practices)
ในชั่วโมงที่เกิดเรื่องนั้น คนบัญชาการคือนายต้นเรือวิลเลี่ยม เมอร์ด็อค ผู้มีผลงานในอดีตมากมายที่เขานำเรือรอดพ้นอุบัติเหตุพุ่งชนได้ อันที่จริงก่อนเข้าประจำการไททานิคนั้น เขาเพิ่งช่วยบังคับเรือของสายเดินเรืออาราบิคให้พ้นการชนเรืออีกลำที่วิ่งขวางในความมืดได้สำเร็จ เขาเป็นคนมีชื่อเสียงและเก่งมากในเรื่องนี้
และคืนนั้นเขาได้พยายามใช้วิธีต่างๆ ที่เขารู้และเคยใช้ ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์หลังเหตุการณ์ว่า หากคืนนั้นเขาไม่พยายามและปล่อยให้เรือแล่นชนตรงๆ อาจมีความสูญเสียแต่ไม่ถึง 5 ส่วนเรือ และเรืออาจรอดจากการอับปาง เขาพึ่งพาความรู้ในอดีตมากเกินไป
ดร. นาเดีย บอกว่ามันง่ายมากที่จะโทษภูเขาน้ำแข็งว่าเกะกะ แต่นั่นไม่ช่วยเลย
ก็เหมือนเราโทษไวรัสโควิด โทษรัฐบาล โทษภาคส่วนต่างๆ หรือแม้แต่โทษโชคชะตา
ซึ่งการโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น คือการลดทอนความรับผิดชอบที่เราพึงมีต่อการนำพาชีวิตตัวเอง
จากไอเดียระดับโลก สู่การลงมือทำระดับเรา
เราเพิ่มความมั่นคงในชีวิตได้อย่างไรบ้าง ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้
1.ศึกษาเทรนด์ในอนาคต โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพการงาน หรือธุรกิจของเรา ลดการเสพความบันเทิง เพิ่มการเสพข่าวสารสาระ
2.เพิ่มทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี และความฉลาดทางอารมณ์
3.ฝึกลงมือทำสิ่งใหม่เพื่อเรียนรู้ อย่ามัวหาข้อมูลจนแน่ใจค่อยลงมือทำ แต่ตั้งคำถามแล้วลงมือทดลองทำเพื่อให้ได้มุมมองใหม่ๆ
เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ แทนที่จะรอให้กลายเป็นภาคบังคับค่ะ
เมื่อเราฝึกทำเช่นนี้ เราจะเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นมิตรมากขึ้น เราจะต้อนรับและเรียนรู้เติบโตไปกับมัน แทนที่จะต่อต้านหรือปิดกั้นเพราะกลัว