สร้างลูกน้องที่มีพลัง

สร้างลูกน้องที่มีพลัง / คำแนะนำที่เราอยากให้หัวหน้าทุกคน เพื่อสร้างลูกน้องที่มีพลัง

หัวหน้าคนหนึ่ง ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากให้ลูกน้องในทีมมีพลังความกระตือรือร้น และสนุกกับงานในหน้าที่ เสร็จแล้วก็ตั้งเป็น “สิ่งที่ลูกน้องควรทำ” ขึ้นมาหลายข้อ พร้อมกับหวังว่าถ้าไปสื่อสาร ลูกน้องจะยอมทำ และจะมีพลังขึ้น

คนที่เป็นหัวหน้ามาสักพัก คงสามารถเข้าใจความหนักใจของเพื่อนหัวหน้าคนนี้ได้ดี และเมื่ออ่านวิธีแก้ปัญหาข้างต้น ก็จะเห็นรูโหว่ในตรรกะอยู่ นั่นคือ ถ้าหน้าที่ปกติลูกน้องยังไม่อยากทำ แล้วทำไมพวกเขาจึงจะทำสิ่งที่หัวหน้าคิดเพิ่มนี้ด้วยเล่า!

หัวหน้าบางคนอาจจะสรุปเลยว่า คนทำงานก็เป็นแบบนี้แหละ อย่าคาดหวังสูง เขาทำตามหน้าที่ก็ดีแล้วพอแล้ว

สำหรับอินสปายรา เราเชื่อว่าภาพความสำเร็จที่แท้จริง คือการที่คนทุกคนในทีม มาทำงานทุกวันอย่างมีความสุข เพราะเขามีความภูมิใจในตนเอง รู้สึกเป็นส่วนสำคัญ และเห็นว่าสิ่งที่ทำมีความหมาย

คำแนะนำที่เราอยากให้หัวหน้าทุกคน คือ

1. สร้างพลังของตัวหัวหน้าเองให้คงที่ “เพราะพลังความสนุกในงาน เป็นสิ่งที่ติดต่อกันได้เหมือนไข้หวัด” เรามักเห็นหัวหน้ามีพลังมาก แต่เป็นพลัง

ความอึดถึกทน คือ ทำไปบ่นไป เพราะหัวหน้าอาจเห็นภาพใหญ่ และต้องแก้ปัญหาเยอะ บางครั้งก็มีความเหนื่อย ท้อ คิดลบ ติดมาในคำพูด และการกระทำเรา หากเราเองยังพูดพาดพิงถึงองค์กรหรือคนอื่นในทางลบ เรากำลังสอนทีมให้ทำสิ่งเดียวกันนี้

2. เป็นแบบอย่างที่ดีแห่งความสุขและสำเร็จ (ที่คนอื่นอยากทำตาม) หัวหน้าเกือบทั้งหมด ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเพราะตัวเองมีความพยายามในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง แต่เมื่อมอง

คนอื่นที่ไม่ได้พยายามเท่าตน ก็เกิดเป็นความคาดคั้นหงุดหงิดว่า “ทำไมเขาไม่ตั้งใจกว่านี้ ทำไมไม่พยายามเลย ฉันยังพยายามตั้งมาก…”ความเบื่อคนอื่น” นั้นพวกเขาสัมผัสได้ และพวกเขาจึงไม่อยากเป็นเหมือนคุณที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จมากแต่กลายเป็นคนขึ้หงุดหงิดและไม่มีความสุขกับคนอื่น

3. หยุดคำพูดหรือการกระทำที่บั่นทอนแรงจูงใจ คำพูดประเภท “ก็เหมือนที่พี่เคยบอกไปหลายครั้งแล้ว”, “คุณผิดเรื่องเดิมอีกแล้ว”, “นี่พี่ต้องพูดอีกกี่ครั้งเนี่ย” และอย่าลืมตามดูสีหน้าและน้ำเสียงของเราด้วย ไม่มีใครอยากเปิดรับคนที่คอยแต่เตือน

เราว่าเรามีอะไรบกพร่องบ้าง (ไม่ว่าเขาคนนั้นจะพูดสุภาพหรือพูดความจริงขนาดไหนก็ตาม ฉะนั้นอุดรอยรั่วในความสัมพันธ์เสียก่อน)

4. ให้กำลังใจ สร้างความรู้สึกดีต่อตัวเขาเอง นี่เป็นการสร้างคนด้วยพลังบวก จ้องที่จะชี้ให้ลูกน้องเห็นทุกวันว่าวันนี้เขาทำอะไรสำเร็จบ้าง และชื่นชมยินดีเขา โดยเฉพาะต่อหน้าเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้เขาทราบว่าเขาสำคัญต่อทีม และงานของเขามีความหมาย

เคล็ดลับคือ ต้องลืมจุดอ่อนไปก่อนนะ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่หวังดี มุ่งแต่ตักเตือนมานานเสียจนใจ ลูกน้องเหี่ยวแห้งไปแล้ว  ต้องมาเริ่มใหม่ด้วยการเน้นสร้างความรู้สึกดี ๆ ถ้ายังทำปน ๆ กัน อย่างการ ติบ้างชมบ้าง เขาจะมีแนวโน้มจะได้ยินเฉพาะคำติของคุณ

กลับมาที่หัวหน้าในโจทย์นี้ ตัวเราเองมองลูกน้อง และคาดหวังให้ลูกน้องเปลี่ยน แต่ลืมมองตัวเองว่าพลังลบของเขานั่นแหละ ที่เป็นตัวสกัดกั้นทีมให้บวกได้ยาก ดังนั้น เปลี่ยนที่เรา ง่ายกว่าเปลี่ยนที่เขาแน่นอน

แบ่งปันเนื้อหานี้:

Facebook
Twitter
LinkedIn
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ

ผู้ก่อตั้งบริษัท อินสปายรา จำกัด และสร้างสรรค์หลักสูตรอบรมและหลักสูตรการโค้ชเพื่อดึงศักยภาพของบุคลากรโดยใช้หลักการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Action Learning)

หัวข้อในบทความนี้