Dr. Carol Dweck ค้นพบว่าความสำเร็จในชีวิตขึ้นอยู่กับความคิด 2 แบบ ความคิดแบบหนึ่งจะทำให้เราประสบความสำเร็จแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือ “Fixed Mindset” ส่วนความคิดอีกแบบจะทำให้เราพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เราเรียกว่า Growth Mindset ซึ่งคือการเชื่อว่าความถนัด ความฉลาด บุคลิกลักษณะ เป็นสิ่งเรียนรู้และพัฒนาได้ เรามาดูกันว่า Mindset แบบนี้มีแง่มุมอะไรน่าสนใจบ้าง
Growth Mindset ของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องเดียวกันนี้ เมื่อ 2600 ปีที่แล้ว ท่านเรียกมันว่า “อิทธิบาท 4” ธรรมะสู่ความสำเร็จ 4 ประการ
คนหนึ่งใช้กระบวนการวิจัย ทดลอง เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ ด้วยเครื่องมือทางสถิติ อีกคนใช้กระบวนการสังเกตกายใจ เรียนรู้อณูย่อยและจิตที่มีความละเอียดสูง เกินเครื่องมือใดจะวัดได้แม้ปัจจุบัน ท่านใช้ห้องแลปคือกายใจของตัวเอง
สิ่งที่สองทฤษฏีนี้มีเหมือนกัน แต่อาจไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ คือภาวะไร้ตัวตน (ego-less) “ลืมตัวเอง” ไปเสียก่อน ถ้าอยากเรียนรู้และเก่งขึ้น
Dr. Carol Dweck บอกว่า คนที่มี Growth Mindset เขาไม่ได้ห่วงภาพลักษณ์ ไม่ได้ห่วง “ตัวเอง” ว่าฉันต้องดูดี ดูฉลาด ดูเก่ง หรือแม้แต่ต้องสำเร็จ แต่เขาเอาใจไปตั้งไว้ที่สิ่งที่เขาอยากรู้ โฟกัสในการเรียนรู้ มากกว่าโฟกัสที่ผลลัพธ์ เมื่อนั้น เขากลับเรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน เมื่อนั้นเขา สนุกเรียนรู้และลองดูสิ
ถ้าเราทำตาม อิทธิบาท 4 คำสอนนี้นำให้เรา ลืม “ตัวฉัน” ไปก่อนเช่นกัน เพราะถ้าเราอยากเก่งอะไร แล้วมัวคิดว่า ฉันไม่เก่งเสียที ฉันจะต้องเก่ง ทำไมฉันโง่จัง แบบนี้หนักอึ้งเลย เรียนไปก็ไม่เข้าหัว เพราะหัวใจมันปิด
อิทธิบาท 4 ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ลองเอา 4 ข้อนี้ไปใช้ แล้วคุณจะเข้าถึงความสนุกเรียนรู้ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ไร้ขีดจำกัดเช่นกัน
- ฉันทะ คือ ความพอใจ ชอบ อยากรู้อยากเก่งเรื่องนั้น เพราะรู้ว่ามันมีคุณค่า มีประโยชน์อย่างไร เห็นว่าสิ่งนี้มันน่าศึกษา น่าฝึกฝน จึงเอาใจมาอยู่กับงาน เกิดความแน่วแน่จริงจัง
- วิริยะ คือ ใจสู้ ไม่ยอมท้อ มีแรงทำต่อเนื่อง แม้เกิดปัญหาอุปสรรคก็เอาชนะจนสำเร็จ
- จิตตะ คือ เอาใจมาจดจ่อ คลอเคลียกับสิ่งนั้น ใส่ใจขณะทำ ไม่ทอดทิ้งงาน มีความรับผิดชอบ
- วิมังสา คือ ทำแล้วใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ประเมินผล ปรับปรุง สะท้อนว่าอะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์ค เรียนรู้และพัฒนาจากความผิดพลาด
ถ้าให้จำง่าย ๆ ตามหนังสือธรรมะกล่าวไว้ คือ “มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน” นี้คือ อิทธิบาท 4
Growth Mindset สำหรับงานใหญ่ “ที่พลาดไม่ได้”
คุณเคยสงสัยไหมว่า เมื่องานพลาดไม่ได้ จะใช้ Growth Mindset ในการทำงานอย่างไร
วันก่อนไปสอนเรื่อง Growth Mindset ให้กลุ่มที่ทำงานเชิงเทคนิค มีผู้เรียนท่านหนึ่งแลกเปลี่ยนมุมมองว่า:
“ผมว่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดก็เป็นคอนเซ็ปท์ที่ดีนะครับ แต่ในชีวิตจริงมันใช้ไม่ได้ งานที่ผมทำอยู่มันผิดไม่ได้เพราะผิดทีเสียหายมาก เช่นการไปซื้อกิจการธุรกิจอื่น”
ก่อนอื่นต้องเห็นก่อนว่าคอมเม้นท์นี้คือ Fixed Mindset ถ้าบังเอิญเรากำลังตกอยู่ใน Fixed Mindset เราย่อมเปิดรับ Growth Mindset ได้ยากเพราะเรากำลังยืนอยู่ตรงข้าม
แต่ไม่แปลก และไม่ผิดนะ เพราะคนทำงานหลายคน ตกอยู่ในบรรยากาศการทำงานแบบ Fixed Mindset ที่หล่อหลอมกันมารุ่นต่อรุ่นว่า “ผิดไม่ได้” คนที่สอนกันมา ต่างก็หวังดี อยากให้งานออกมาถูกต้องได้ผล
มีคนถาม Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ว่าทำอย่างไร Facebook ถึงตัดสินใจได้แม่นยำ รู้ว่าจะออกฟีเจอร์อะไร หรือจะเข้าซื้อกิจการไหน

Mark Zuckerberg ตอบว่าเขาก็ไม่ได้ตัดสินใจถูกหมดหรอก บางทีก็ผิด และผิดแพงด้วย แต่เขาให้ความสำคัญกับการสร้าง “repeated innovation culture” คือวัฒนธรรมที่บ่มเพาะการสร้างนวัตกรรมได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่เขาสนใจคือ ทำอย่างไรให้คนของเขาเรียนรู้ได้รวดเร็วที่สุด
คำตอบคือ การทดลองเล็กๆ เรียนและปรับทีละนิด ทีมคืบหน้าไปทางที่ถูก ก็เพราะผิดเล็กๆ แล้วรู้ เมื่อรู้ ทำให้ตัดสินใจครั้งหน้าได้แม่นยำขึ้น เขาเล่าว่าในขณะที่เขานั่งสัมภาษณ์อยู่นั้น หลายทีมงานใน Facebook (ตอนนี้เป็น Meta แล้ว) กำลังมีการทดลองเล็กๆ เป็นหมื่นการทดลอง พูดง่ายๆ Facebook ในโลกนี้มีเป็นหมื่นๆ เวอร์ชั่นในแต่ละขณะ ซึ่งทีมมีสิทธิทดลองกันเองได้โดยไม่ต้องมาผ่านการอนุมัติจากเขา

พูดง่ายๆ Facebook ในโลกนี้มีเป็นหมื่นๆ เวอร์ชั่นในแต่ละขณะ ซึ่งทีมมีสิทธิทดลองกันเองได้โดยไม่ต้องมาผ่านการอนุมัติจากเขา
ทีมเริ่มสังเกตและตั้งคำถามขึ้นมา เช่น ผู้ใช้กำลังพูดเรื่องอะไรกัน ผู้ใช้อยากเห็นเพื่อนเยอะหรือน้อยเท่าไหร่ ผู้ใช้จะสนใจฟีเจอร์นี้แค่ไหน และคนที่สนใจเป็นใคร คำถามพวกนี้แหละ ที่พวกเขาสร้างการทดลอง ลงมือทำบางอย่างแล้วเก็บข้อมูล ดูผลที่ได้เพื่อมาตัดสินใจอันถัดไป
เขาบอกว่า ในความเป็น CEO ถ้าเขาสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้นมา เขาคาดหวังว่าเขาไม่ควรต้องมาตัดสินใจใหญ่ๆ ที่ถูกกดดันให้ถูกต้อง
ขณะที่ส่งเสริมให้คนตัดสินใจเล็กๆ ได้ตลอดเวลา อนุญาตให้ผิดพลาดและเรียนรู้ปรับปรุงจากความผิดพลาด กระบวนการนี้จะทำให้การตัดสินใจใหญ่ๆ มีความมั่นใจขึ้น
ภาพที่ Mark Zuckerberg บรรยายนั้น เป็นวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมยุคใหม่ เช่น Lean Innovation หรือ Design Thinking ซึ่งเต็มไปด้วย Growth Mindset
กลับไปที่คำถามในคลาส เดาว่าในบริษัทนั้นมีคนตัดสินใจกระจุกตัวอยู่ไม่กี่คน และมีความกดดันมากว่าต้องตัดสินใจถูก จนบางทีจะไม่มีใครกล้าตัดสินใจและงานต่างๆ ก็จะเดินช้าลง
เราไม่ได้ต้องให้โปรเจ็กต์พลาด แต่ต้องอนุญาตให้เกิดการทดลองเล็กๆ เพื่อหาคำตอบเล็กๆ ซึ่งพลาดได้ เพราะถ้าไม่อนุญาต พอไปถึงการตัดสินใจใหญ่ๆ แทนที่จะรู้สึก “เรามาถูกทาง” คุณจะรู้สึกว่า “จะรู้ได้ไงว่าถูกทาง เราพลาดไม่ได้นะ” Growth Mindset ใช้ได้ แต่คุณต้องส่งเสริมมันในทุกระดับ ตั้งแต่ข้างบนสุดมาถึงข้างล่างสุด
Growth Mindset กับการสูญเสีย จะลุกขึ้นยืนอีกครั้งได้อย่างไร
ด็อกเตอร์ลูซี่ โฮน (Lucy Hone) สูญเสียลูกสาวอายุ 12 ขวบในอุบัติเหตุรถยนต์ ในเช้าวันแม่ปี 2014 การสูญเสียลูกอย่างกะทันหัน นับเป็นความเจ็บปวดแสนสาหัสเพราะคนเป็นพ่อแม่ มักวาดภาพฝันให้ลูกเติบโตงดงาม และคาดหวังให้เราเป็นผู้ไปก่อน

ตลกร้ายก็คือ ลูซี่เป็นนักวิจัยเรื่อง Resilience (ความยืดหยุ่นเข้มแข็งทางจิตใจ) ผู้ซึ่งอุทิศตนในการใช้ความรู้ช่วยเพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ยากให้ได้เยียวยา และลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง
แต่วันนั้น ลูซี่ได้รับบททดสอบของชีวิต เธอกลายเป็นผู้ต้องรบการเยียวยาเสียเอง เธอโยนคำแนะนำและทฤษฎีจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งหลายทิ้งไป เพราะเธอรู้สึกว่ามันไม่ช่วยอะไรมาก มีแต่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนผู้ถูกกระทำ สิ้นหวัง และไร้พลัง
สิ่งที่เธอต้องการคือความหวัง และวิธีฟันฝ่าความทุกข์นี้ไปได้ เธอตัดสินใจว่าจะเรียนรู้และหาวิธีช่วยตัวเองให้รอดจากประสบการณ์นี้ และเธอก็ได้ข้อสรุปมา 3 ข้อ จากการเดินผ่านวันที่มืดมนมาด้วยตัวเอง
และนี่คือเคล็ดลับ 3 ข้อที่จะทำให้เราทุกคนมี Resilience เพิ่มขึ้น นั่นคือมีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจ ล้มแล้วลุกได้อย่างมั่นคง ลูซี่บอกว่า คนที่มีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจจะคือคนที่ฝึกมองให้เห็นว่า:

1. ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต — ไม่มีใครเลยไม่เคยทุกข์ คนที่เห็นความจริงข้อนี้จะไม่มองว่าโลกกลั่นแกล้งตน แทนที่เธอจะวนคิดว่า “ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับฉันด้วย” เธอกลับคิดว่า “แล้วทำไมเรื่องนี้จะเกิดกับฉันไม่ได้ด้วยเล่า (ทำไมฉันต้องพิเศษกว่าคนอื่นเล่า)” ตอนที่เสียลูกไป เธอบอกตัวเองว่า “นี่คือความจริงของชีวิตในตอนนี้ เป็นเวลาที่ฉันต้องเลือกว่าจะจมน้ำหรือว่ายน้ำ”
น่าเสียดายที่ความจริงข้อนี้เห็นได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะเราต่างหันแต่ด้านที่สวยงามของชีวิตมาอวดกันในสื่อโซเชียล เราพยายามให้ตัวเองเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องสดใสสวยงาม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย
2. เราสามารถเลือกโฟกัสในสิ่งดี – สมองมนุษย์มีต่อมเตือนภัยให้เราสังเกตเรื่องร้ายได้ชัด เพราะนั่นคือกลไกที่ช่วยให้เราอยู่รอดจากการถูกเสือกินมาตั้งแต่ยุคมนุษย์ถ้ำ แต่ในปัจจุบันแม้ไม่ถูกเสือกินแล้ว ต่อมเตือนภัยอาจทำงานค้าง เพราะเรารับข่าวแย่ๆ ในสื่อตลอดเวลา และสมองเราแยกแยะไม่ได้ว่านั่นคือแค่ข่าวหรือสิ่งที่เกิดจริงกับตัวเอง
คนที่มีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจไม่ได้ปฏิเสธข่าวร้าย แต่ก็เลือกสอนให้สมองหัดโฟกัสในสิ่งที่เป็นบวกด้วย ตอนนั้นลูกซี่ย้ำเตือนกับตัวเองว่า
“ฉันจะถูกกลืนกินไปกับทุกข์นี้ไม่ได้นะ ฉันต้องรอด ยังมีสิ่งดีๆ รออยู่ในชีวิตมากมาย อย่างน้อยลูกสาวฉันก็ไม่ได้ตายอย่างช้าๆด้วยโรคร้ายที่ทรมานเธอ ครอบครัวและเพื่อนฝูงต่างเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเรา และเรายังมีลูกชายอีกสองคนที่ต้องการเรามาก”
3. สิ่งที่ฉันทำอยู่ตอนนี้ ช่วยฉันหรือฉุดฉัน – มันง่ายมากที่จะเผลอจมกับความเศร้าโศก คนที่มีความเข้มแข็งยืดหยุ่นทางใจจะฝึกหยุดสำรวจตัวเองแล้ว “เป็นผู้เลือก” หลายคืนที่ลูซี่เผลอนั่งดูรูปเก่าๆ ของลูกสาว จิตใจก็เคล้าไปกับความเศร้า เมื่อเธอรู้ตัว เธอจะถามตัวเองว่า “ที่มานั่งดูรูปอยู่แบบนี้ มันช่วยฉันหรือฉุดฉัน” แล้วเธอก็เลือกบอกตัวเองว่า “เอารูปไปเก็บซะแล้วเข้านอนเถิด จงใจดีกับตัวเองด้วย” ฝึกถามตัวเองวันละหลายๆ ครั้ง
ดร.ลูซี่ บอกว่า resilience เป็นสิ่งที่ทุกคนฝึกได้ สิ่งที่คุณต้องการคือความเต็มใจที่จะฝึกและบ่มเพาะให้ตัวเอง
เราทุกคนทำได้ เราสามารถลุกขึ้นเดินต่อได้ แม้จะล้มแรงแค่ไหน คงไม่มีใครอยากเจอทุกข์ในระดับนี้ แต่รู้ไหมว่า การล้มแล้วลุก เกิดขึ้นเล็กๆ ได้ในชีวิตประจำวันเราเสมอ ทุกครั้งที่เราทำอะไรผิดพลาด Resilience สัมพันธ์กับ Growth Mindset ทั้งคู่คือการสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด เปลี่ยนมันเป็นพลังให้เราเก่งและแกร่งขึ้นได้