Growth Mindset และ Fixed Mindset เป็นคำที่ศาสตราจารย์ ดร.แครอล ดเว็ค (Dr.Carol Dweck) นักจิตวิทยาและนักวิจัยที่มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University)[1] ได้บัญญัติไว้ในปี ค.ศ. 2007 ในหนังสือ “Mindset: The New Psychology of Success” หรือ “ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา” หลังจากที่ผลงานวิจัยหลายชิ้นของท่านได้ยืนยันแนวคิดนี้
1. Growth Mindset คืออะไร
Growth Mindset (ทัศนคติเติบโต) คือ มุมมองหรือความเชื่อที่ว่าเราทุกคนสามารถเรียนรู้และเก่งขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ถ้าเราใส่ความพยายามฝึกฝนเข้าไป นั่นก็คือ เชื่อว่าเราสามารถสร้างหรือเปลี่ยนแปลงทักษะ ความรู้ความสามารถ ความถนัด หรือบุคลิกภาพของเราได้ เพราะมันไม่ได้จำกัดหรือตายตัว
Fixed Mindset (ทัศนคติติดกรอบ) คือ มุมมองหรือความเชื่อว่าเราแต่ละคนมีความถนัด ความรู้ ความสามารถ หรือบุคลิกภาพที่เป็นของเราเอง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้มากนัก เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับทัศนคติเติบโตนั่นเอง
นั่นคือ ทัศนคติแบบติดกรอบจะเชื่อในพรสวรรค์ ส่วนทัศนคติแบบเติบโตจะเชื่อในพรแสวง
2. เปรียบเทียบ Fixed Mindset vs Growth Mindset
เราลองมาดูความคิดสองแบบนี้ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในตัวเราเมื่อเราเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีคนขอให้เราทำสิ่งที่ไม่ถนัด ตัวอย่างเช่น
1) ร้องคาราโอเกะ เป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณ หรือเลือกร้านอาหารนัดเลี้ยงกลุ่ม
Fixed Mindset: ไม่ถนัดเลยอ่ะ ให้คนอื่นทำดีกว่ามั้ย
Growth Mindset: ไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่ลองได้จ้ะ
2) เมื่อเราลองทำบางอย่าง แต่ผลออกมาไม่ดี
Fixed Mindset: บอกแล้วไงว่าไม่ถนัด คราวหลังไม่ทำละ อายเค้า
Growth Mindset: เออเนอะ หลายอย่างไม่เหมือนที่คิด คราวนี้เรารู้แล้ว คราวหน้าดีขึ้นแน่
3) เมื่อเจอของยาก
Fixed Mindset: ยากจัง จะคุ้มเหรอเนี่ย ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลล่ะ
Growth Mindset: ยากนะ แต่น่าสนใจมาก สงสัยจังว่าถ้าลองทำแบบนี้จะเป็นอย่างไร
4) เมื่อเจอคนที่ทำบางอย่างได้ดีกว่าเรา
Fixed Mindset: เขาโชคดีที่ครอบครัวสนับสนุน / ฉันไม่มีเวลามากเท่าเขา
Growth Mindset: ถ้ามีเวลาน้อยเราจะปรับอย่างไรให้ทำได้นะ / ฉันจะหาตัวช่วยที่ไหนดี
5) เมื่อเราถูกวิพากษ์วิจารณ์
Fixed Mindset: มันก็ไม่ได้ทำง่ายๆนะ แล้วคนพูดเก่งนักหรือไง
Growth Mindset: เออ หรือมันมีวิธีที่ดีกว่านี้ เขาหมายถึงอะไรนะ
สังเกตว่าเมื่อเสียงในหัวเราพูดกับตัวเองแบบ Fixed Mindset เราจะไม่ค่อยอยากฝึกฝนสิ่งนั้น เราจะหดกลับมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง อยู่ไปแบบสบายๆ ดีกว่า อย่าไปเสี่ยง อย่าไปเหนื่อย
และนั่นอันตรายมาก!! มันคือสาเหตุที่อินสปายราเรียกความคิดแบบนี้ว่า “การติดกรอบ” ชีวิตเราจะเหมือนติดกรอบ ซึ่งเป็นกรอบที่ตัวเรานั่นแหละที่สร้างขึ้นมาจำกัดตัวเอง
แต่เมื่อเราหัดพูดกับตัวเองด้วยความคิดแบบ Growth Mindset เราจะเพิ่มการเรียนรู้ฝึกฝนในเรื่องนั้นๆ ซึ่งนั่นเองทำให้เราเก่งขึ้นๆ และประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในที่สุด ลองดูภาพข้างล่าง เป็นสรุปสาระสำคัญของทัศนคติทั้งสองแบบไว้ เพื่อคุณจะได้ให้เห็นมันชัดขึ้น

3. ความเข้าใจผิด 3 ข้อเกี่ยวกับ Growth Mindset
ถ้าคุณลองค้นหาคำว่า Growth Mindset จะพบคำอธิบายคล้ายกันมากมาย ถ้าบังเอิญคุณอ่านแล้วรู้สึกว่า “ก็ฟังดูดี ก็ไม่เห็นมีอะไรมาก เข้าใจได้ ก็คือให้คิดบวกน่ะ คิดแบบโลกสวยไว้ก่อน” ถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ คุณอาจยังเข้าไม่ถึงแก่นของ Growth Mindset สามสิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิด ถ้ายังไม่รู้จัก Growth Mindset ดีพอ ซึ่ง อ.เอ้ อิศรา พูดไว้ในคลิปนี้ – 3 สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Growth Mindset
ความเข้าใจผิดข้อที่ 1 “Growth Mindset ก็คือคิดบวกไง”
ไม่ใช่เลย! ถ้ามันเป็นแค่การคิดบวกที่พวกเรารู้จักกันมานานแล้ว แนวคิดนี้คงไม่โด่งดังไปทั่วโลกขนาดนี้ Dr.Carol Dweck เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “จิตวิทยาใหม่สำหรับความสำเร็จ” (The new psychology of success) และนั่นคือความต่างที่สำคัญของทัศนคติเติบโต กับทัศนคติบวก เราเห็นความต่างชัดที่สุดเมื่อดูประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของมัน
ความคิดบวกให้ประโยชน์คือพลังใจ เมื่อเราคิดบวกเราจะได้รับพลังใจ ทำให้เราสามารถมองปัญหาได่โดยใจไม่ต้องทุกข์มาก เช่น เมื่อทำงานพลาด โดนหัวหน้าตำหนิแล้วเราเกิดไม่พอใจ
- คนคิดลบ อาจคิดว่า “เฮ้อ โดนอีกแล้ว ทำเท่าไหร่ก็ไม่เคยถูกใจ เอาแต่ด่าๆๆ เซ็งว่ะ” คิดแบบนี้ นอกจากจะดราม่าเกินจริง ยังทำให้ใจหนัก เครียดและแค้น ทำลายแรงจูงใจในการทำงานของตัวเอง
- คนคิดบวก อาจคิดว่า “เอาน่า วันนี้พี่อาจอารมณ์ไม่ดี งานผิดก็แก้ไป อย่าคิดมาก” คิดแบบนี้แล้วก็ไม่รู้สึกแย่กับหัวหน้า รักษาความสัมพันธ์และงานไว้ได้ แต่! เราจะทำงานเก่งขึ้นแค่ไหน เราจะเรียนรู้และเติบโตจาการพลาดได้ไหม อันนี้คิดบวกอย่างเดียวไม่ช่วย ต้องมี Growth Mindset
- คนคิดเติบโต ก็อาจคิดกับตัวเองว่า “อ้าว! นี่เราทำไม่ตรงโจทย์เหรอเนี่ย เออทำไมเราถึงเข้าใจโจทย์ผิดนะ คราวหน้าต้องปรับการสื่อสารอย่างไรดี เราถึงจับประเด็นโจทย์แม่นกว่านี่”เห็นไหม Growth Mindset ช่วยให้เปลี่ยนอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ไปเป็นความสงสัย การเรียนรู้ จึงทำให้เราเก่งเร็ว และไปถึงจุดหมายของเราได้เร็วกว่าและไกลกว่า
ความเข้าใจผิดข้อที่ 2 “Growth Mindset สำหรับคนอยากรวยและสำเร็จมากๆ”
บางคนได้ยินคำว่าสำเร็จ ก็ตีความว่ามันคือต้องรวย ต้องยิ่งใหญ่ แต่ฉันไม่ได้ทะเยอทะยานขนาดนั้น ฉันไม่จำเป็นต้องฝึกเรื่องนี้ก็ได้ ความจริงคือ เราทุกคนเติบโตได้ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเติบโต:
- ด้านร่างกาย เช่น อยากฝึกทำอาหารคลีนกินเอง อยากฝึกออกกำลังกายเป็นนิสัย
- ด้านมันสมองและความคิด เช่น อยากเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ๆในอาชีพ อยากอ่านหนังสือเป็นประจำ
- ด้านการเงิน เช่น อยากฝึกลงทุน อยากฝึกเก็บออกม อยากหารายได้เพิ่ม อยากทำยูทูปแชแนล
- ด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น อยากมั่นใจในตัวเอง อยากเลิกหงุดหงิดง่าย อยากหายเครียด
- ด้านสังคมและความสัมพันธ์ เช่น อยากเป็นแฟนในฝัน อยากเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้น อยากสร้างทีมงานเป็นปึกแผ่น
- ด้านจิตวิญญาณและความสงบสุข เช่น อยากนั่งสมาธิ อยากหัดวาดแมนดาลา
ไม่ว่าอยากเก่งหรือสำเร็จเรื่องอะไร คุณจะเก่งและสำเร็จได้มากขึ้นไกลขึ้น ถ้าเพิ่มทัศนคติแบบ Growth Mindset ให้ตัวเอง เรียกว่า ทัศนคติแบบเติบโตนี้แหละ ช่วยให้คุณปลดล็อคศักยภาพของตัวเอง ช่วยให้คุณทำฝันเป็นจริง ใช้ชีวิตแบบคุ้มค่ากันเลยทีเดียว
ความเข้าใจผิดข้อที่ 3 คนมี Growth Mindset ต้องเรียนรู้ทุกเรื่องตลอดเวลา
จริงอยู่ ว่าคนที่มีทัศนคติเติบโต จะชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีกว่า แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนรู้ทุกเรื่อง เป็นคนสงสัยใคร่รู้ตลอดเวลา สนอกสนใจไปหมดทุกเรื่อง คนที่มี Growth Mindset ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีความรู้รอบตัวเยอะ คุยได้ทุกเรื่อง เพราะชีวิตเรามีเวลาจำกัด เราต้องเลือกเรียนในสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา เราอยากได้อะไรในชีวิต ไปเรียนรู้พัฒนาสิ่งนั้น และไม่ไปเสียเวลากับเรื่องไม่สำคัญที่ไม่มีคุณค่าต่อชีวิต
เราทุกคนมีสิทธิ์เลือกว่าอะไรสำคัญสำหรับเรา หลายคนเลือกได้ แต่ไปไม่สุด ตอนเริ่มต้นก็ตื่นเต้น ฝันไว้สวยหรู แต่มีปัญหาเรื่องการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เจออุปสรรคก็ท้อแท้ เปลียนใจง่าย ถึงเวลาเติม Growth Mindset ให้ชีวิต เอาไปใช้กับเรื่องที่เรียนแล้วฝึกแล้วชีวิตจะปัง
4. แก่นแท้ของ Growth Mindset
แก่นแท้ของ Growth Mindset คือความเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เราทุกคนก็เรียนรู้ได้ พยายามแล้วจะเก่งขึ้นได้ จะเก่งไม่เก่งมาก่อน จะเด็กหรือแก่ จะถนัดหรือไม่ถนัด … เราเพิ่มให้ตัวเองได้ทั้งสิ้น
คนไทยมีสำนวน “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ฝรั่งก็มีสำนวนคล้ายกันว่า “คุณไม่สามารถสอนหมาแก่ให้ทำท่าใหม่ ๆ ได้” ความเชื่อเหล่านี้ทำให้พวกเราหมดหวัง คิดว่ามันคงไม่ทันแล้วที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แต่สิ่งที่ทัศนคติเติบโตสอนเราคือ ไม่ว่าเราอายุเท่าไหร่ เราเรียนรู้และเปลี่ยนตัวเองได้เสมอ
และนี่ไม่ใช่แค่การสะกดจิตคิดไปเอง ให้ตัวเองเชื่อเช่นนั้น เพราะมันมีรากฐานมาจากวิทยาศาตร์สมองมนุษย์ ที่เราเรียกว่า neuroscience ซึ่งก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นี้ สมองเรามีการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เก่งขึ้นถ้าเราพยายามและฝึกฝน
5. Neuroplasticity สมองก็เหมือนกล้ามเนื้อ
เดิมที นักวิทยาศาตร์เข้าใจว่า สมองมนุษย์จะพัฒนาแค่ไหนขึ้นกับกรรมพันธุ์ จะเติบโตในช่วงเด็กเท่านั้น และหยุดโตเมื่อร่างกายเติบโตเต็มที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว พูดง่ายๆ เราเคยเชื่อว่าคนจะเก่งหรือไม่เก่งขึ้นกับว่าสมองที่พ่อแม่ให้มานั้นดีแค่ไหน และจะฝึกหรือเรียนอะไรต้องทำตั้งแต่ยังเด็ก ถ้าไม่ทำ โตไปก็ไม่ทันแล้ว
นักวิทยาศาตรร์คนแรกที่ค้นพบหลักฐานในปี 1964 ว่าสมองเปลี่ยนแปลงและเติบโตตลอดช่วงอายุขัยของ คือศาสตราจารย์ มาเรียน ไดมอนด์ (Marian Diamond)[2] ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของวิทยาศาสตร์สมองสมัยใหม่ (modern neuroscience) คุณสมบัตินี้เรียกว่า Neuroplasticity ซึ่งมากจากคำว่า nuero (เกี่ยวกับสมอง) และคำว่า plastic (ความสามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ เหมือนพลาสติก)

คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของพลาสติกคือสามารถหลอมขึ้นรูปให้เป็นทรงต่างๆ ได้ สมองเราก็เหมือนกัน นักวิทยาศาตร์ค้นพบแล้วว่า มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิตเรา การเปลียนแปลงนี้ไม่ใช่ว่าสมองจะเปลี่ยนรูปทรงไปอย่างชัดเจนหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น
แต่การเติบโตของสมองนั้น ทำได้โดยสร้างเครือข่ายโยงใยระหว่างเซลสมองให้หนาแน่นขึ้น ที่เราเรียกว่า จะเปลียนแพทเทิร์นของการสื่อสารระหว่างเซลในสมองซึ่งสื่อสารกันด้วยการปล่อยประจุไฟฟ้าที่เรียกว่า synap ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งมองจากภายนอกก็คือ เรามีความสามารถมากขึ้น เราเก่งขึ้นในสิ่งที่เราฝึก
ศาสตราจารย์ มาเรียน ไดมอนด์ ยังมีชื่อเสียงมากจากการค้นพบว่า สมองของอัจฉริยะคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นั้นมีขนาดเหมือนมนุษย์ทั่วไป แต่ภายในสมองนั้นมีการเชื่อมโยงระหว่างเซล (ที่เรียกว่า glial cells) มากกว่าของมนุษย์ปกติ และท่านยังพิสูจน์อีกว่า การเชื่อมโยงระหว่่างเซลสมองนั้น เกิดจากการได้รับการฝึกฝน จากการประสบพบเจอโจทย์ที่ท้าทายในชีวิต
เพราะสมองเราไม่ได้หยุดเติบโต ไม่ได้คงที่ตลอดชั่วชีวิตเรา แต่ “ยิ่งใช้ ยิ่งเก่ง” เปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต ความสำเร็จของเราสร้างได้ด้วยการพยายามฝึกฝนนั่นเอง ทุกครั้งที่เราเจอความท้าทายหรือปัญหา และเราลงมือทำหรือฝึกฝน สมองเราจะถูกฝึกและมันจะะเก่งขึ้นเรื่อยๆ นั่นแหละ คือแก่นของ Growth Mindset อยากสำเร็จ ต้องอ้าแขนรับความท้าทายและลงมือฝึกฝน
6. ความสำคัญของ Growth Mindset
ความคิดแบบนี้ให้ประโยชน์กับทุกคน ในบทบาทต่างๆ ที่พวกเราทำกันอยู่ คนทีมีทัศนคติเติบโต จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้สำเร็จในบทบาทต่างๆ ได้มากกว่าคนที่มีทัศนคติติดกรอบ ความสำคัญของ Growth Mindset ในสังคมยุคนี้ยิ่งมากขึ้นเพราะ
1) เราต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลก
การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ข่าวสารที่เกิดขึ้นรวดเร็ว การที่ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปกติของการใช้ชีวิตไปแล้ว
2) เราจะเจอกับ “ความไม่รู้” บ่อยขึ้น
นอกจากจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่บางครั้งไม่ได้เห็นชัดเจน เราเรียกโลกสมัยนี้ว่า VUCA คือมี Volatility (ความแปรปรวน), Uncertainty (ความไม่แน่นอน), Complexity (ความซับซ้อน), และ Ambiquity (ความคลุมเครือ) ;วิธีการเรียนรู้ของพวกเราจะไม่ใช่การท่องตำราอีกต่อไปแต่เป็นการลงมือทำ
3) เรามีโอกาสเพิ่มมากมาย
ด้วยข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายและเท่าเทียมกันมากขึ้น มีโอกาสที่เราจะสร้างตัวเองให้เก่งถ้าเรามีทัศนคติที่ถูกต้องและมีนิสัยการพัฒนาตัวเองที่ดี
4) เราสวมบทบาทที่หลากหลายขึ้น
ด้วยสังคมที่ซับซ้อนขึ้น เราทุกคนมีบทบาทหลายอย่างทั้งในครอบครัวและการทำงาน เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเล่นบทบาทต่างๆ ให้ดี
5) สังคมเราก็มีความหลากหลายขึ้น
ทำให้เราต้องเปิดใจ เปิดรับ และปรับตัวกับคนแบบหลากหลายที่เราพบเจอในหน้าที่การงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
การเรียนรู้และสร้างชีวิตให้เติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของมนุษย์ยุคนี้ ย่อมแตกต่างจากสมัยห้าสิบปีที่แล้ว มุมมองแบบนี้แหละที่คุณจำเป็นต้องมีเพื่อสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน
7. สอนให้คนมี Growth Mindset ได้อย่างไร
การสอนให้เข้าใจว่าทัศนคติเติบโตคืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร นั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ยาก คือการช่วยให้คน “เห็นตัวเอง” นั่นคือตระหนักรู้ถึงทัศนคติของตัวเอง ซึ่งมาในรูปแบบของ “เสียงในหัว” ที่มีต่อสถานการณ์ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน
การสอนทัศนคติเติบโตตามแบบฉบับของอินสปายราจึงมุ่งเน้นการใช้กิจกรรมและเทคนิคต่างๆ ตามวิถี Action Learning ช่วยให้คนมองเห็นตัวเองอย่างชัดเจน และหัด “ฟังความคิดตัวเอง” ซึ่งนำมาด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองต่อไปได้
เมื่อครั้งที่ Dr.Carol Dweck ไปบรรยายที่บริษัท Google[A] มีผู้ฟังยกมือถามว่า “สิ่งที่คุณพูดมันฟังดูดีมาก แต่ฉันจะฝึกมันได้อย่างไร” ซึ่ง Dr.Carol Dweck ตอบว่า หลายครั้งคนที่ฟังเรื่องนี้พยายามจะฝึกสิ่งต่างๆ พยายามหา “การกระทำ” ที่เรียกว่า Growth Mindset
แต่เธอแนะนำว่าในสองสัปดาห์แรก ไม่ต้องทำอะไรมากเลยนอกจากกลับมาสังเกตตัวเอง แล้วฟังเสียงในหัวตัวเอง ว่าเมื่อไหร่ที่เรากำลังคิดแบบ Growth Mindset และที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อไหร่ที่เรากำลังคิดแบบ Fixed Mindse เทคนิคที่อินสปายราใช้บ่อย ซึ่งตรงกับสิ่งที่ Dr.Carol Dweck พูดถึง คือ “การส่องหมาดำ”[B] นั่นเอง
8. วิธีสร้าง Growth Mindset ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน
1) ทำความเข้าใจหลักการของ Growth Mindset
ดูว่าตัวอย่างความคิดลักษณะใดเป็น Fixed Mindset และลักษณะใดเป็น Growth Mindset
2) ฝึกฟังเสียงที่เราพูดกับตัวเอง
วิธีสังเกตง่ายๆ อีกอันคือ เมื่อไหร่ที่เรามีความคิดแบบ Fixed Mindset เราจะเกิดการลังเล ไม่อยากลงมือทำ สรุปว่ายากเกินไป เสี่ยงเกินไป หรือยังไม่พร้อม
3) บอกตัวเองว่า “ฉันคือผู้เลือก”
ในขณะนั้น เมื่อคุณได้ยินความคิดแบบ Fixed Mindset ของตัวเอง (ซึ่งน่าจะผุดขึ้นมาจากความเคยชิน ที่เผลอจนคิดแบบนี้บ่อยๆ) ให้คุณรู้ว่าคุณมีทางเลือกที่จะคิดแบบใหม่ จากนั้นก็ให้บอกตัวเองในใจ ด้วยความคิดแบบ Growth Mindset ที่ดีกว่า
4) ลงมือทำ
ในขณะที่ Fixed Mindset จะฉุดรั้งคุณไว้ไม่ให้ลงมือทำ ทำให้คุณจำกัดตัวเองและไม่เติบโตเท่าที่ควร ขอให้คุณลองฝืนลงมือทำแม้จะยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่นั่นแหละ
5) เรียนรู้จากการได้ลงมือทำ
เมื่อทำเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน คุณได้เกิดการเรียนรู้แล้ว ลองหยุดแล้วตอบให้ได้ว่าการลงมือทำนั้น ได้ให้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ กับคุณบ้าง นั่นแหละ คุณได้เติบโตแล้วทีละนิด
9. Growth Mindset กับการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง
ไซม่อน ซิเนค (Simon Sinek) นักเขียนชื่อดังเจ้าของหนังสือ Start with Why แนะนำว่าการโค้ชทีมที่ดีต้องสร้าง Growth Mindset ในทีมก่อน[C]
สัญญาณของทีมที่มีปัญหา เช่น มีคนมาฟ้องว่าสมาชิกในทีมคนนั้นคนนี้มีปัญหา มีคนที่แสดงบทบาทครอบงำทีม ซึ่งดูคนอื่นไม่กล้าขัด เป็นต้น

ไซม่อนบอกว่าสิ่งที่จะช่วยทีมได้มาก คือ การทำ peer review แบบ 360 องศา นั่นคือการที่แต่ละคนในทีมมีโอกาสได้บอกความรู้สึกและความเห็นที่มีต่อกันและกัน หรือที่เราเรียกว่าฟีดแบ็ค อย่างตรงไปตรงมาและรู้สึกปลอดภัย วิธีที่เขาแนะนำ คือ
- แต่ละคนเขียนจุดอ่อนหรือสิ่งที่ตัวเองต้องพัฒนา 3 อย่าง และเขียนจุดแข็งหรือสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี 3 อย่าง
- รวบรวมสิ่งที่ทุกคนเขียนเกี่ยวกับตัวเขาเอง แล้วแจกให้เพื่อนร่วมทีมทุกคนได้อ่านของกันและกันล่วงหน้า
- มาประชุมกัน โดยมีคนกล่าวเปิดการประชุม ย้ำเตือนจุดประสงค์ว่า การที่เรามาให้ฟีดแบคแก่กันและกันก็เพื่อช่วยให้เราทุกคนได้เติบโต สิ่งที่เพื่อนแต่ละคนจะบอกแก่เราก็เป็นที่ยากสำหรับเขาในการบอก แต่เราทำเพื่อสนับสนุนการเติบโตของกันและกัน
- แต่ละคนเริ่มอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียน ให้เพื่อนฟัง (เริ่มจากจุดอ่อน แล้วไปจุดแข็ง)
- เพื่อนในทีมช่วยเติม
- สิ่งที่ผู้อ่านจะต้องทำ คือรับฟังสิ่งที่เพื่อนตั้งใจบอก และสามารถตอบได้คำเดียวว่า “ขอบคุณ”
กติกาข้อสุดท้ายนี้สำคัญมาก เป็นการฝึก Growth Mindset ในด้านการรับฟีดแบคให้สมาชิกในทีมด้วย ไซมอนบอกว่า ถ้าคุณฟังสิ่งที่เพื่อนพูดแล้วรู้สึกสะเทือนใจ แสบๆ คันๆ นั่นแสดงว่าสิ่งนั้นอาจเป็นความจริงนะ และคุณมีสิทธิพูดว่า “ขอบคุณ” เท่านั้น ไม่มีสิทธิถามเพิ่ม ไม่เถียง ไม่ต้องอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น และถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งที่เพื่อนพูดมาไม่เป็นความจริง คุณก็มีสิทธิ์ขอบคุณแล้ววางมันลงเสีย ไม่ต้องเก็บไปใส่ใจ
การทำกิจกรรมนี้ จะช่วยสร้างการพัฒนาของสมาชิกแต่ละคนในทีมอย่างรวดเร็ว แนวคิดคือ คนแต่ละคนย่อมมีจุดบอดที่เราเองมองไม่เห็น นั่นคือเราคิดว่าคนอืนมองเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ความจริงอาจตรงนัก เราจึงจำเป็นต้องอาศัยการช่วยมองรอบด้านของคนอื่นด้วย และแน่นอนว่า การที่แต่ละทีมจะทำกิจกรรมนี้ได้ ต้องอาศัย Growth Mindset ของสมาชิกในทีม
10. องค์กรที่มี Growth Mindset
องค์กรที่มีชื่อเสียง และได้ออกมาประกาศว่า บริษัทปลูกฝังเรื่อง Growth Mindset คือ GE, Gap, Accenture, Bloomberg, P&G, Aetna, และ Apple. ในประเทศไทยก็มีการสอนพนักงานเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยที่สามบริษัทในนั้น คือ Gap, GE, Accenture ได้เลิกใช้ระบบประเมินผลงานประจำปี[3] แต่หันมาใช้วิธีให้พนักงานและหัวหน้างานได้ตั้งเป้าหมายให้ชัดและมีการให้ฟีดแบคกันบ่อยขึ้นตลอดทั้งปี เพราะบริษัทอยากเปลี่ยนจากการโฟกัสที่ความสำเร็จเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนวิธีการ มาเป็นการเน้นที่ความสามารถเรียนรู้และกระบวนการสร้างความสำเร็จ
แต่บริษัทที่นำเรื่องนี้มาใช้อย่างเข้มข้นคือ Microsoft ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าซีอีโอของบริษัทคือ สัตยา นาเดลลา(Satya Nadella) นั้น ชื่นชอบเรื่อง Growth Mindset เป็นอย่างมาก ถึงขั้นซื้อแจกทีมผู้บริหาร[4] เมื่อเขาเข้ามารับตำแหน่งในปี 2014 และต้องทำการพลิกฟื้นธุรกิจของไมโครซอฟท์ ที่ดูเหมือนจะตามไม่ทันคู่แข่งอย่าง Google หรือ Apple เนื่องจากยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ

สัตยา นาเดลลา จึงนำทีมผู้บริหารทำการเปลี่ยนวัฒนธรรมของไมโครซอฟท์ จากสิ่งที่สัตยาเห็นในตอนนั้นว่าเป็นวัฒนธรรมของคนเก่งที่ “รู้ทั้งหมด” (Know-it-alls) ไปสู่วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยพนักงานที่สนใจจะ “เรียนรู้ทั้งหมด” (Learn-it-alls) และเขายังได้โทรปรึกษา Dr.Carol Dweck ต้นตำรับของ Growth Mindset เป็นการส่วนตัวด้วย
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Dr.Carol Dweck นั้น กลุ่มนักวิจัยได้สุ่มถามคนที่ทำงานในบริษัทชั้นนำ พบปรากฏการ์ณที่น่าสนใจคือ พนักงานในองค์กรแห่งเดียวกัน มักจะมีความเห็นตรงกันว่าองค์กรของเรามีวัฒนธรรมแบบ Growth Mindset หรือ Fixed Mindset
นอกจากนั้น คณะวิจัยพบว่าพนักงานในบริษัทที่มี Growth Mindset เมื่อเทียบกับพนักงานในบริษัทที่มี Fixed Mindset แล้วนั้น:
- มีแนวโน้มมากกว่าถึง 47% ที่จะตอบว่า เพื่อนร่วมงานเป็นที่น่าไว้วางใจ
- มีแนวโน้มมากกว่าถึง 37% ที่จะรู้สึกเป็นเจ้าของงานของตนเอง และอุทิศทุ่มเทกับบริษัท
- มีแนวโน้มมากกว่าถึง ุุ65% ที่จะตอบว่า บริษัทสนับสนุนให้เปิดรับความเสี่ยง
- มีแนวโน้มมากกว่าถึง 49% ที่จะตอบว่า บริษัทบ่มเพาะนวัตกรรม
สรุปว่า องค์กรที่ปลูกฝังมุมมองเติบโตนั้น พนักงานจะเรียนรู้ ร่วมมือ แก้ปัญหา กล้าเสี่ยง และสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ดีกว่า และเหนืออื่นใด พนักงานมีความสุขและอินกับงานและบริษัทมากกว่าด้วย
11. ตัวอย่างผู้นำที่มี Growth Mindset และคำคมของเขา
โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison)
โทมัส เอดิสัน คือ นักวิทยาศาตร์ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าและสิ่งประดิษฐ์อีกมากมาย ในการประดิษฐ์หลอดไฟนั้น เขาต้องทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากมาย เขาเคยกล่าวไว้ว่า
เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford)
เฮนรี่ ฟอร์ด คือ ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ฟอร์ด เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมหาศาล แต่คนมักไม่ค่อยรู้ว่า กว่าที่เขาจะประสบความสำเร็จนั้น เขาผ่านการล้มละลายมาแล้วถึง 5 ครั้ง เฮนรี่ ฟอร์ด กล่าวว่า
โอปรา วินฟรีย์ (Oprah Winfrey)
โอปรา วินฟรีย์ คือ นักสื่อสารมวลชนและเจ้าของอาณาจักรธุรกิจมัลติมีเดีย ที่สร้างตัวเองจากเด็กผู้หญิงผิวสีที่ยากจนและผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิต จนมาเป็นไอดอลคนหนึ่งของชาวอเมริกัน ในปี 2022 มีการประเมินความมั่งคั่งของเธอถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ[5] เธอกล่าวว่า
ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan)
ไมเคิล จอร์แดน คือ ซุปเปอร์สตาร์ในวงการกีฬาบาสเกตบอล ผู้ซึ่งเคยคัดตัวไม่ผ่านตอนที่เข้าคัดตัวเป็นนักบาสเกตบอลในทีมโรงเรียนมัธยม เหตุการณ์นั้นทำให้เด็กชายไมเคิล กลับบ้านไปขังตัวเองและร้องไห้อยู่นาน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เขายอมแพ้ล้มเลิกความฝัน เขากล่าวถึงสถิติที่น่าทึ่งของตัวเองว่า
แจ็ค หม่า (Jack Ma)
แจ็ค หม่า คือ ผู้ผันตัวเองจากครูมาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และก่อตั้งอาณาจักรอีคอมเมิร์ซ อาลีบาบา เขาได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับสองในการจัดอันดับ “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลก”[6] โดยนิตยสารฟอร์บในปี 2017 และได้รับยกย่องจากนิตยสารฟอร์จูนให้เป็น “ฮีโร่ด้านการบริจาค” แห่งปี 2019 และเขาติดอันดับ 26 ของ “คนที่รวยที่สุดในโลกแห่งปี 2021” ที่จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บ แจ๊ค หม่า กล่าวไว้ว่า
สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella)
และคนหนึ่งที่เราไม่พูดถึงไม่ได้ สัตยา นาเดลลา คือ ซีอีโอแห่งไมโครซอฟท์ เขาเป็นคนที่มีบุคลิกถ่อมตน ตรงไปตรงมา ให้ความสำคัญกับคน และรักการเรียนรู้อย่างมาก นอกจากสัตยาจะเป็นคนที่มีทัศนคติเติบโตแล้ว เขายังสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องนี้ได้อย่างเข้มข้นและประสบความสำเร็จอีกด้วย สัตยากล่าวไว้ว่า
12. ทำความรู้จัก Dr.Carol Dweck นักวิจัย Growth Mindset อันโด่งดัง
ศาสตราจารย์ ดร.แครอล ดเว็ค (Dr.Carol Dweck) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับแรงจูงใจและทัศนคติ

ประวัติส่วนตัวที่น่าสนใจคือ สมัยที่เธอยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นั้น ชั้นเรียนของเธอจัดให้เด็กนั่งกันตามเกรด จากสูงสุดไปต่ำสุด นักเรียนที่ได้เกรดสูงอันดับต้นๆ จะได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักเรียนทั่วไป นั่นคือได้มีสิทธิ์ลบกระดานดำให้ครู เป็นผู้เชิญธงชาติ และเป็นผู้สามารถเอาข้อความไปส่งในห้องทำงานของครูใหญ่ได้
เธอเล่าว่า ตอนนั้นเธอไม่ได้เชื่อว่า ความฉลาดทางสติปัญญาจะสำคัญมากขนาดนั้น แต่เธอก็สังเกตว่าเด็กๆ ทุกคนก็อยากประสบความสำเร็จภายใต้สิ่งแวดล้อมหรือกรอบที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกติกาใด ๆ ก็ตาม และประสบการณ์นั้นทำให้เธอสนใจและวิจัยเรื่องทัศนคติ จนมาพบว่า “ความฉลาดทางสติปัญญา” ไม่ได้มีผลมากต่อความสำเร็จเท่า “ทัศนคติ”
ก่อนจะมาเป็นศาสตราจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียม มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเยล
งานวิจัยของเธอส่วนใหญ่อยู่ในภาคการศึกษา นั่นคือเธอทำการทดลองกับเด็กหลายร้อยคน เพื่อจะดูว่าอะไรมีผลต่อแรงจูงใจและความสำเร็จของเด็ก และสิ่งที่เธอค้นพบก็ถูกอธิบายไว้ในหนังสือชื่อดังอย่าง ‘Mindset: The New Psychology of Success’ และได้รับการตีพิมพ์บทความกว่าร้อยชิ้น นอกจากนี้ เธอยังได้รับรางวัลมากมาย เพราะผลงานชิ้นนี้สร้างประโยชน์ไปทั่วโลกในหลายวงการ อาทิ ด้านศึกษา ด้านธุรกิจ ด้านสุขภาพ เป็นต้น[7]
13. Growth Mindset ทำให้เด็กเรียนอ่อนชนะเด็กเรียนเก่งได้
จากบทความเรื่อง A national experiment reveals where a growth mindset improves achievement ทำให้เราเห็นว่าศาสตราจารย์ ดร.แครอล ดเว็ค และทีมนักวิจัยได้ทำการทดลองเรื่อง Growth Mindset ในเด็กนักเรียนในหลายมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาและได้ผลซ้ำ ๆ อันน่าพอใจ ท้ายสุดเธอกล่าวว่า “หากพ่อแม่อยากให้ของขวัญกับลูก สิ่งที่ดีที่สุด คือ การสอนลูกให้รักความท้าทาย สงสัย และเรียนรู้จากความผิดพลาด สนุกกับการได้พยายาม และเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด”[8]

14. วีดีโอเรื่อง Growth Mindset จากอินสปายรา
อินสปายรามุ่งมั่นเป็นผู้นำในการสร้างทัศนคติเติบโตในองค์กร เรามีหลักสูตรที่สอนเรื่องนี้ด้วยวิธีการของ Action Learning ที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ ท่านยังติดตามความรู้เพิ่มเติมได้จากวีดีโอต่อไปนี้ และอีกมากมายบน Inspra Youtube Channel
- Growth Mindset ใช้ไม่ได้จริงหรอก! เพราะงานเราพลาดไม่ได้
- ฝึกเรื่องยากๆ ให้สนุก ทำอย่างไร
- 4 ขั้นตอน ‘ฝึกอะไรก็เก่ง’ ด้วย Growth Mindset
- ก้าวข้ามอุปสรรค สู่เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วย Growth Mindset
- เสียงไหนเห่าอยู่ในทีมเรา?
- 3 คำพูดที่กักขังตัวเอง
- อย่ามัวแต่โทษคนอื่น เพราะคุณจะพลาดโอกาสในการเติบโต
- จงอิจฉาแล้วเปลี่ยนเป็นพลัง
- อยากเก่งอะไร ให้ลืมตัวเองไปก่อน
- ใช้ “จินตนาการ” เปลี่ยนความท้าทาย เป็นความสำเร็จ
- วิ่งตาม Passion ระวังไม่เจอ
- 3 วิธีรักษาแรงจูงใจ ด้วย Growth Mindset
15. อ้างอิง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
[1] stanford [2] wiki/MarianDiamond [3] hbr [4] observer [5] forbes [6] wiki/JackMa [7] wiki/CarolDweck [8] nature
วิดีโอที่เกี่ยวข้อง:
[A] The Growth Mindset | Carol Dweck | Talks at Google [B] เสียงไหนเห่าอยู่ในทีมเรา? [C] Coaching with a Growth Mindset | Simon Sinek