วิธีรับมือเมื่อต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบ

วิธีรับมือเมื่อต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบ

ใครเคยต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบ หรือคนที่เราเกลียดบ้าง ยกมือขึ้น! คนที่ยกมือ คุณมีวิธีรับมือเมื่อต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบอย่างไรบ้าง? ส่วนคนที่ไม่ยกมือ ขอแสดงความยินดีด้วย คุณไม่ถูกก่อกวนด้วยเรื่องเสียอารมณ์แบบนี้ แต่คุณน่าจะเป็นคนส่วนน้อย เพราะความต่างเป็นเรื่องปกติของชีวิต 

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้กล่าวว่า การต้องทำงานกับคนที่ไม่ชอบเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไของมนุษย์ หรือ Human Condition เราจะต้องเจอผู้คนที่ต่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมทาง หรือญาติ เราทั้งหมดมีความเสี่ยงที่จะเจอคนที่เราไม่ชอบหรือเกลียดชังกันทั้งนั้น การหลีกเลี่ยงที่จะพบปะคนเหล่านั้นดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่เราก็ไม่สามารถทำได้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นคนในที่ทำงาน

ถ้าชีวิตการทำงานของคุณ ต้องเสียอารมณ์ไปกับคนที่คุณไม่ชอบหน้า แล้วคุณคิดว่าก็ไม่เห็นเป็นอะไร คุณแน่ใจได้อย่างไรว่า ความไม่ชอบนั้นไม่ได้ส่งผลถึงคำพูด สีหน้า น้ำเสียง และการกระทำของคุณกับบุคคลนั้น 

พูดง่าย ๆ ว่า การที่คุณไม่ชอบเขา แม้คุณจะพยายามพูดดีกับเขา คุณว่าเขาสัมผัสได้หรือไม่ ถึงความไม่พอใจของคุณ ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าการพยายามพูดดี รักษามารยาทกับคน ๆ นั้นที่เราไม่ชอบ เรามาดูวิธีรักษาใจของเรา ไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับเขาดีกว่า 

เปลี่ยนกรอบความคิดในการมองคนที่เราไม่ชอบ

เทคนิคเพิ่มพลังบวกนี้ เรียกว่าการ Reframe หรือการเปลี่ยนกรอบความคิด นั่นคือ การเปลี่ยนจากการมองปัญหาเป็นการมองให้เห็นโอกาส แทนที่จะโฟกัสว่า ฉันไม่ชอบคน ๆ นี้ ทำไมฉันต้องทำงานกับคนๆ นี้ เราจะเปลี่ยนไปถามตัวเองว่า การทำงานกับคนๆ นี้ เป็นโอกาสอะไรของเราได้บ้าง เช่น

  1. ฝึกการวางตัวและความมีวุฒิภาวะ สามารถคุยอย่างมีมารยาท และใช้คำพูดที่ดีกับทุกคนไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ
  2. ฝึกสมาธิ ให้ตั้งความคิดอยู่ที่ประเด็นงาน สนใจและสงสัยใคร่ครวญอยู่แต่ประเด็นเนื้องาน มากกว่าจะสนใจประเด็นบุคคล
  3. ฝึกใจกว้าง พิจารณาวิธีและสไตล์การทำงานที่ต่างไปจากเรา ให้เห็นว่าแม้เราไม่ชอบ คนอื่นมีสิทธิ์ชอบและใช้วิธีนั้นได้ผล
Reframe เปลี่ยนกรอบความคิด
  1. ฝึกความอดทน อดทนกับความไม่ชอบ ความหงุดหงิด แล้วเราจะเห็นว่าอารมณ์เหล่านี้จริงๆ แล้วไม่สามารถทำอะไรเราได้ เราไม่จำเป็นต้องตกเป็นทาส โดยขึ้นลงไปตามมัน
  2. ฝึกสติ เมื่อความหงุดหงิดผุดขึ้นในใจ เราจะเห็นมัน รู้ทันมันตลอดวัน ยิ่งมันผุดขึ้นมาบ่อย สติเราจะไวขึ้น
  3. ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น แม้จะเริ่มต้นด้วยความแปลก ๆ แต่เราอาจพบว่า เรามีเพื่อนแปลก ๆ เพิ่มขึ้นอีกคนก็ได้
  4. ภูมิใจในตัวเองมากขึ้น มากกว่าการทำงานกับคนที่ง่าย ๆ ที่เราชอบ

ดูเหมือนต้องฝืนใจบ้างในตอนแรก แต่จริง ๆ มันไม่ยากหรอก เราแค่ไม่เคยชิน เราแค่ไม่เคยฝึกให้เห็นโอกาสทองที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่ดูเหมือนน่าเบื่อน่ารังเกียจฝึกแบบนี้ ใจเรามีพลังบวก เราสามารถทำงานได้ผลดีขึ้นและถ้าฝึกเรื่อยๆ ชีวิตเราจะหมดปัญหา แต่เต็มไปด้วยโอกาสทอง ไม่เชื่อลองดู !

เลิกจับผิดคนที่เราไม่ชอบ แล้วจับถูกแทน

การจับถูกตรงข้ามกับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่ นั่นก็คือ “การจับผิด”  ซึ่งพวกเราต่างเคยทำกันโดยไม่รู้ตัว มากบ้าง น้อยบ้าง เวลาเราตั้งสมมติฐานในด้านลบเกี่ยวกับใคร ตา หู และสมองของเราจะเปิด คอยหาหลักฐานมาสนับสนุนจนเป็นข้อสรุป “เห็นมั้ย ก็ฉันบอกแล้วว่าเขาเป็นคนอย่างนั้น” 

ถ้าเราสังเกตดี ๆ หลักฐานต่าง ๆ ก็เต็มไปด้วยความลำเอียงในการตีความเข้าข้างตัวเอง บางทีเจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจทำสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ดีนั้น แต่เนื่องจากเราอยากได้หลักฐาน เราจะตีความว่าเขาตั้งใจ และนั่นเป็นพฤติกรรมที่แย่มาก

การจับถูกตรงกันข้ามกับการจับผิดนั่นเอง นั่นคือการเฝ้ามองดูคนที่เราเกลียด แล้วมองให้เห็นเป็นข้อ ๆ ว่าเขาทำอะไรดีบ้างไม่ว่าจะในสายตาเราหรือสายตาคนอื่น ยิ่งมากข้อยิ่งดี ทำให้ได้ทุกวันยิ่งดี

การจับผิดใคร ๆ ก็ทำกันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยพรสวรรค์อะไร แต่การจับถูกเป็นสิ่งพิเศษ มันต้องใช้ความสามารถพิเศษและใจที่พิเศษ โดยเฉพาะกับคนที่เราไม่ชอบ

เลิกจับผิดแล้วจับถูก
  1. ใจที่ยอมปล่อยวางอดีตทั้งหลาย ไม่จดจ่อกับประเด็นว่าเขาเคยเป็นอย่างไร แต่จดจ่ออยู่กับการมองปัจจุบัน
  2. ใจที่เอื้อเฟื้อ ยอมอนุโลมว่าเขามีเจตนาดี
  3. ใจที่เพ่งในความบวก มองหาแต่หลักฐานที่เป็นบวก และปล่อยผ่านมองข้ามการกระทำที่เราไม่ชอบ

“การจับถูก” ได้ผล เพราะ

  1. ยิ่งจับยิ่งเจอ –  เราจะเห็นว่าจริง ๆ หลักฐานมีให้เก็บทั้งในแง่ดีและร้าย ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเก่งขนาดไหน
  2. สอนสมองให้มองสิ่งสำคัญ – หลักฐานมีทั้งดีและร้าย คนฉลาดย่อมเลือกเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วใช้
  3. ประโยชน์จากมันไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และคุณไม่สามารถเข้าถึงใครในระดับที่จะช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ถ้าหากคุณยังเพ่งโทษเขาอยู่
  4. สอนใจให้พึ่งใจตัวเอง – เมื่อคุณทำได้สักระยะหนึ่ง คุณจะพบพลังความสุขในตัวเองที่เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่คู่กรณียัง
  5. ไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรเลย คุณจะค้นพบว่า ความสุขนั้น คุณเป็นผู้สร้างเอง และสร้างได้โดยไม่พึ่งการเปลี่ยนแปลงภายนอก
  6. โน้มน้าวใจเขา ช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลง – คุณไม่สามารถไปเปลี่ยนใคร มีแต่เจ้าตัวที่ต้องอยากเปลี่ยนตัวเอง
เปลี่ยนจากการมองปัญหาเป็นมองเห็นโอกาส

การยอมรับและเห็นข้อดีของคนที่เราไม่ชอบ โดยไม่ต้องคอยย้ำเตือนว่าอีกฝ่ายมีข้อเสียอะไรอยู่ตลอดเวลานั้นมีพลังมาก หากคุณทำแบบนี้ให้ใครได้เขาจะลดกำแพงระหว่างเขาและคุณลงเขาจะค่อยๆ ได้ยินในสิ่งที่คุณอยากบอก ซึ่งคุณพยายามบอกมานาน แต่เขาไม่เคยฟังเพราะมีกำแพงอยู่

การจับถูกมีวิธีทำง่าย ๆ แต่ได้ผลมหาศาล แรก ๆ จะฝืนบ้างเพราะไม่ชิน และเพราะมันง่ายมาก คุณอาจมองข้าม และทำมันอย่างไม่เต็มที่พอที่จะเห็นผล แต่ถ้าคุณเปิดใจและเต็มที่กับมัน คุณจะพบพลังบวกที่คุณสร้างได้เอง และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

สร้างความสุขให้ตัวเอง

แต่ถ้าอาการคุณหนักหนาสาหัสมาก เพียงแค่นึกถึงคนที่เราเกลียดก็เครียดความดันขึ้นแล้ว บางคนบอกเราตรง ๆ ว่าไม่ชอบเขามากถึงขนาดได้ยินเสียงเขาคุยเดินมาคุยกับคนอื่น ก็จิตตกเสียแล้ว ถ้าอย่างนั้น แม้แต่เทคนิคข้างต้นที่ว่าไปแล้ว ก็ยังอาจจะยากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะ ถ้าไปเริ่มที่ตัวปัญหาตรง ๆ เหมือนคนยังไม่ได้ฝึกซ้อมมาแล้วขึ้นชกเลย มีหวังคงเจอปัญหาชกน่วม หรือน็อคเอ๊าท์ไปเท่านั้นเอง

สิ่งที่คุณอาจทำได้ก็คือ การคิดถึงและทำในสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างความสุขให้คุณ จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อให้รู้สึกดีกับปัญหาที่เจอแต่เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเองและกับชีวิตโดยรวม รู้สึกดีมากพอที่จะเริ่มคิดออก หรือเริ่มลงมือทำในสิ่งเล็ก ๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาของคุณได้

ทุกครั้งที่คุณรู้สึกเครียดกับปัญหาบางอย่าง จนไม่อยากจะทำอะไรนอกจากกลับบ้านไปนอน  หรือถ้าคุณมีอาการเก็บเอา ปัญหานี้ไปบ่นให้คนที่บ้านฟังทุกค่ำเมื่อทานอาหารเย็นกัน เรียกได้ว่าคนที่บ้านต้องมาฟังเรื่องของคุณ ประหนึ่งเป็นละครหลังข่าวแล้วล่ะก็ พึงรู้ไว้ว่าคุณถูกครอบงำแล้ว คุณกำลังถูกครอบงำด้วยปัญหา ด้วยความรู้สึกลบ ชนิดเสพติดความลบเลยทีเดียว ให้คุณคิดแก้ปัญหา ก็คิดไม่ออก มีแต่จะหาคนฟังคุณระบาย แล้วใครอย่าได้ขัดคอไม่เห็นด้วยเชียว!

สร้างความสุขให้ตัวเอง

ในสภาวะอย่างนั้น ไม่เหมาะกับการแก้ปัญหา คุณต้องทำใจให้อยู่ในโซนบวกก่อนเพื่อ “เปิดสมอง” และ “เปิดใจ” ทำให้ตัวเองมีพลังเพียงพอก่อน สิ่งง่าย ๆ คือการคิดถึงและทำในสิ่งเล็ก ๆ ที่เป็นความสุขของคุณ สิ่งนั้นมีธรรมชาติเป็นสิ่งที่คุณชอบ และทำได้โดยง่ายไม่เปลืองแรงมาก เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง เล่นกับลูก ดูหนังดูละคร ออกกำลังกาย เดินเล่น ปลูกต้นไม้ เดินซื้อของ ดูรูปธรรมชาติสวย ๆ การทานขนมหรือทำกับข้าวที่ตัวเองโปรดปราน ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หรือแม้แต่การคิดถึงสิ่งเหล่านั้น (คือไม่ต้องทำ แต่แค่คิดก็สุขแล้ว)

ข้อสำคัญ คือ เป็นการทำเล็ก ๆ ที่ไม่เปลืองแรงมากนัก ไม่งั้นแทนที่คุณจะพร้อมกลับมาคิดแก้ปัญหา หรือลงมือทำอย่างอื่น คุณอาจจะเหนื่อยกับการทำสิ่งพวกนี้ไปเสียก่อน

คราวหน้าถ้าจิตตก ลองคิดถึงหัวข้อที่ทำให้คุณมีความสุข ใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีไปกูลเกิลรูปสวย ๆ ในหัวข้อนั้น แล้วลองกลับมาดูระดับพลังงานในตัวคุณสิ มันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเลยทีเดียว เทคนิคนี้อาจไม่ได้แก้ปัญหาโดยตรง แต่มันจะรักษาใจและสมองของคุณให้มีแรงเพื่อไปค่อย ๆ หาวิธีแก้ปัญหาได้ต่อไป

อ้างอิง

hbr.org

แบ่งปันเนื้อหานี้:

Facebook
Twitter
LinkedIn
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ
อ.เอ้ อิศรา สมิตะพินทุ

ผู้ก่อตั้งบริษัท อินสปายรา จำกัด และสร้างสรรค์หลักสูตรอบรมและหลักสูตรการโค้ชเพื่อดึงศักยภาพของบุคลากรโดยใช้หลักการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Action Learning)

หัวข้อในบทความนี้

บทความอื่น ๆ

ดูบทความทั้งหมด