คุณเคยเป็นแบบนี้ไหม รู้ว่าอยากได้อะไรแต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรให้สำเร็จ? เรามาเรียนรู้กันว่า เมื่อเราตั้งเป้าหมายแล้ว เราจะลงมือทำอย่างไรให้สำเร็จ
1. วางแผนการลงมือทำเพื่อไปถึงเป้าหมาย
การตั้งเป้าหมาย ไม่ใช่แค่การกำหนดว่าอยากได้อะไร แต่คือการวางแผนด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สำเร็จตามนั้น กระบวนการตั้งเป้าหมายจึงสำคัญกว่าตัวเป้าหมายนั้นเองเสียอีก พลังของเป้าจึงอยู่ที่การวางแผน และการลงมือทำ
ในกระบวนการตั้งเป้าหมาย เราจะผ่านกระบวนการคิดและวางแผนการกระทำ คาดการณ์ปัญหาและอุปสรรค หาวิธีป้องกันหรือวิธีแก้ไข รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในกรณีที่เราเห็นแล้วว่ายังไม่พร้อมในหลาย ๆ จุด ซึ่งเป็นมุมมองที่เราจะช่วยให้การลงมือทำสำเร็จมากขึ้น ถ้าตอนนี้เรามีเป้าหมาย แต่ไม่มีแผนการลงมือทำ และไม่รู้ว่าจะลงมือทำอะไรอย่างไร วิธีจัดการคือ :
1.1 ตั้งเป้าย่อยเป็นการหาไอเดียลงมือทำ โดยให้เวลาจำกัดแก่ตัวเอง
ตัวอย่างเช่น
- โทรถามคนที่เคยทำสิ่งคล้าย ๆ กันนี้สามคนภายในสัปดาห์นี้
- กูเกิลวันละชั่วโมง ต่อเนื่องหนึ่งสัปดาห์ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ไอเดียในการลงมือทำ
- ไปเลือกซื้อหนังสือ 3 เล่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วอ่านให้จบภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อสรุปเป็นไอเดียมากที่สุด

1.2 ลงมือทำทันทีเมื่อเห็นหนทางคร่าว ๆ
เดี๋ยวค่อยมาปรับแผนให้ชัดขึ้นในอนาคตอันใกล้ (เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ลงมือทำเสียที)โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีการบัญญัติศัพท์ที่อธิบายโลกปัจจุบันว่า “วูก้า” (VUCA – Vulnerability, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) นั่นคือเต็มไปด้วย ความเปราะบาง ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน ความคลุมเครือ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในตลาดหุ้น โลกธุรกิจ และโลกอินเตอร์เน็ตเมื่อโลกเปลี่ยน วิธีคิดเราก็ต้องเปลี่ยนตามสมัยก่อน

เราอาจเคยชินกับการวางแผนให้ครอบคลุม และเราสามารถทำได้เพราะสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงช้าเคยเป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น เราจึงสามารถวางแผนได้ครอบคลุมเพราะเป็นแผนที่อ้างอิงอดีต แต่เมื่อโลกเราซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าเราหมายมั่นจะได้แผนซึ่งครอบคลุมครบถ้วน เราจะใช้เวลามาก และอาจไปไม่ถึงจุดที่ชัดเจนขนาดนั้น
แผนที่ดีกว่า คือ แผนคร่าว ๆ แต่มีความชัดเจนว่าเราตั้งสมมติฐานว่าอะไรในกระบวนการคิดนั้น แล้วลงมือทำเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น มาปรับปรุงแผนของเรา เช่น ถ้าเราอยากเริ่มธุรกิจใหม่ เราอาจลงมือทำชิ้นที่เห็นชัดก่อน คือ การลองทำสินค้าตัวอย่าง ตั้งราคา แล้วลองขายกับคนที่รู้จักเพื่อให้ได้ข้อมูลมาคิดต่อยอดว่าจะตั้งร้านที่ไหน อย่างไรดี บางทีเราอาจได้ข้อมูลว่าไม่ต้องเปิดหน้าร้านเลยก็ได้เห็นดังนี้แล้ว หยิบปฏิทินมา แล้วกำหนดวันเวลาในการทำที่แน่นอนลงไปในปฏิทินเราได้เลย!
2. จัดการกับเป้าหมายที่เราไม่ได้รู้สึกอยากมากมาย
เคยมั้ย ตั้งเป้าเดิม ๆ แต่แล้วเราก็ไม่ทำมันเหมือนเดิม ราอาจอ้างเหตุผลต่าง ๆ เช่น เราไม่มีเวลา แต่เอ๊ะ! หรือเราไม่ได้อยากได้เป้านั้นจริง ๆ กันแน่ นั่นคือ เราไม่ได้อยากได้มาก พอที่เราจะลงมือทำจริงจัง ทุ่มเทกับมันเต็มที่ เช่น การออกกำลังกาย การตื่นนอนแต่เช้า การอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น การเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม การทบทวน และปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง เราก็อยากได้นะถ้ามันทำง่ายพอ แต่ถ้ามันยาก เราไม่เอาก็ได้และแล้วเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ก็ล้มไปไม่นานหลังจากที่เราตั้ง
วิธีจัดการกับเป้าหมายที่เราไม่ได้รู้สึกอยากมากมาย คือ
2.1 ทำเป็นนิสัย ไม่ต้องพึ่งพาความอยาก
คนที่ฝึกให้ตัวเองทำอะไรได้ต่อเนื่อง แรก ๆ อาจเริ่มจากความอยาก แต่เมื่อลงมือทำต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัยและความเคยชิน คือแม้ไม่อยากก็ลงมือทำได้ และฝึกแบบนั้น คุณจะเพิ่มโอกาสสำเร็จในหลายสิ่งในชีวิตด้วยวิธีเดียวกันนั้น มีคนเคยบอกว่า ให้ออกกำลังกายไม่ใช่เพราะมันสนุก แต่ออกกำลังกายเพราะเป็นหน้าที่ที่เราต้องดูแลร่างกายเรา ถ้าคุณฝึกไม่พึ่งความอยาก ตัดสินใจว่าจะทำ แล้วก็ลงมือทำ เหมือนที่ไนกี้บอกว่า Just Do it! คุณจะเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองขึ้นทันทีทดลองกับสิ่งเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายขนาดไปสิ่งใหญ่ ๆ ก็ได้

2.2 ตัดสินใจจะทำเพราะมันคือเรา
เมื่อเราเลือก และบ่มเพาะการกระทำทุกวันของเราให้สอดคล้องกับค่านิยมที่เราเลือก เราจะมีความชัดเจน และมีความสุขเพราะมันคือ แรงจูงใจขั้นสูงสุดเลยทีเดียว ดังนั้น เลือกว่าอะไรสำคัญสำหรับคุณ แล้วหาสิ่งนั้นให้เจอในเป้าหมายนั้นมันจะเพิ่มแรงจูงใจให้คุณ เช่น คนสามคนสามารถฝึกภาษาอังกฤษทุกวันด้วยแรงจูงใจที่ต่างกันเมื่อท้อ คนแรกคิดว่าฉันเป็นคนมีวินัย คนที่สองคิดว่าฉันต้องทำจะได้ก้าวหน้าเพื่อครอบครัว คนที่สามทำเพราะได้ฝึกไปด้วยกันกับเพื่อนใหม่ ๆ

“ค่านิยม”(values) คือ นามธรรมที่เราเห็นว่าสำคัญมากที่สุดสำหรับเรา (เช่น การเติบโต การมีน้ำใจ มิตรภาพ ความสำเร็จ ครอบครัว ความสนุกสนาน การพัฒนาตน ความซื่อสัตย์ ฯลฯ) ซึ่งแต่ละคนจะให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากันและทุกคนมีสิทธิ์เลือก โดยปกติ การที่เราให้ความสำคัญกับอะไรนั้น เกิดจากการปลูกฝังเลี้ยงดูส่วนหนึ่ง ประสบการณ์ในชีวิต นิสัยใจคอของเราก็มีส่วนและที่แน่ ๆ เราสามารถ เลือกได้ ว่าเราจะให้ความสำคัญกับอะไร และจะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเรา
2.3 ตั้งเป้าใหม่ที่ใจคุณอยากได้มากกว่า
ถ้าสุดท้ายแล้วคุณยังรู้สึกไม่อยากได้สิ่งนี้ ก็อย่าหลอกตัวเองอีกต่อไปเลย เพราะการพูดว่าอยากได้แล้วไม่ทำมันเป็นการบ่มนิสัยของความไม่ชัดเจนของคุณให้ไปเริ่มต้นทำในสิ่งที่คุณอยากได้มากกว่า เพื่อให้คุณชินกับความสำเร็จเสียก่อน เมื่อนั้น คุณค่อยกลับมาทำสิ่งนี้ด้วยความมั่นใจในตัวเองที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่สาย

3. สร้างนิสัยที่เอื้อต่อเป้าหมาย
เมื่อเราตั้งเป้าให้ตัวเอง แรก ๆ เรามักจะรู้สึกตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ เห็นภาพความสำเร็จที่ทำให้ฮึกเหิมแต่แล้วเมื่อเราเข้าสู่โหมดการลงมือทำ ความตื่นเต้นทั้งหลายก็มลายหายไปสิ้น กลับกลายเป็นความรู้สึกเหนื่อย ยาก ท้อ หรือล้มเลิกความตั้งใจ สำหรับคนที่มีวินัยในตัวเองสูง ๆ และฝึกสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองมาอย่างดี ก็จะสามารถลงมือทำให้สำเร็จได้อย่างสม่ำเสมอด้วยวินัยคือการบังคับตัวเอง หรือด้วยแรงจูงใจคือ การบิวด์ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
ทำอย่างไรเราจะไม่ต้องพึ่งพา การบังคับตัวเอง และ แรงจูงใจ มากขนาดนั้น? คำตอบคือการสร้าง นิสัย ที่เอื้อต่อเป้าหมายของเรา เพราะนิสัยคือ การกระทำที่เราทำซ้ำ ๆ จนกลายเป็นความเคยชิน ผลคือ เราทำมันได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องพยายามมาก ไม่ต้องใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะพลังใจพลังฮึด

ลองดูตัวเองว่าจริงไหม การแปรงฟัน การติดกระดุมตอนเช้า การขับรถมาทำงาน สิ่งเหล่านี้เราทำเองได้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องบังคับตัวเองเลย แทบจะทำโดยไม่ต้องใช้ความคิดอะไรเลย ลองมองเป้าหมายที่คุณตั้งให้กับตัวเอง มีนิสัยอะไรบ้างที่คุณสามารถสร้างขึ้น เพื่อเอื้อต่อการลงมือทำตามเป้าหมาย ? เช่น
- อยากกินให้น้อยลง – อาจเริ่มจากนิสัยการอ่านฉลากและจำนวนแคลอรีของทุกสิ่งที่ผ่านตา
- อยากลดน้ำหนัก – อาจสร้างนิสัยการเลือกเสื้อผ้าก่อนนอนให้ดูคล่องแคล่วทะมัดทะแมง (สำหรับบางคนการแต่งตัวดีทำให้รู้สึกอยากดูดีขึ้น) หรือ การกระโดดตบเมื่อตื่นนอน (ซึ่งจะทำให้คุณอยู่สภาวะคุ้นชินกับการเคลื่อนไหว)
- อยากฝึกลงทุน – อาจเริ่มจากการอ่านหนังสือเรื่องลงทุนเพียงวันละหน้า หรือการดูดัชนีตลาดหุ้นทุกวัน
- อยากเพิ่มยอดขาย – อาจสร้างนิสัยการดูตัวเลขยอดขายทุกวัน
- อยากเครียดน้อยลง – อาจฝึกหายใจยาวเพื่อผ่อนคลายเพียงแค่ 5 ครั้งต่อการฝึกหนึ่งครั้ง
- อยากให้ฟีดแบคที่เก่งขึ้น – อาจฝึกชมหรือขอบคุณคนอย่างเฉพาะเจาะจงวันละครั้ง
เคล็ดลับของการสร้างนิสัยใหม่มีสามข้อคือ :
3.1. เริ่มจากการกระทำที่เล็ก ๆ ทำง่ายมาก (small action)
เช่น อ่านหนังสือหนึ่งหน้า หายใจเข้าออกห้าครั้งเปิดดูตัวเลขยอดขายทุกวัน
3.2 ผูกติดกับตัวกระตุ้น (trigger)
เมื่อมีตัวกระตุ้นเราจะทำการกระทำนั้น ตัวกระตุ้นอาจเป็นเวลา (เช่น ทำเมื่อตื่นนอน, ทำตอนเที่ยง) หรือเป็นการกระทำอื่นก็ได้ (เช่น ก่อนจะเข้านอน, เมื่อนั่งลงที่โต๊ะทำงาน)
3.3 มีรางวัลให้ตัวเองเมื่อลงมือทำ (reward)
เช่น เมื่อดูตัวเลขเสร็จเราจะโทรบอกแฟนและให้ตัวเองคุยสักห้านาที เมื่ออ่านหนังสือหนึ่งหน้าเราจะปิดหนังสือแล้วยกนิ้วโป้งให้ตัวเองสองข้าง เมื่อดูดัชนีตลาดหุ้นเราจะคร๊อปหน้าจอเก็บเป็นโฟลเดอร์ต่างหากในโทรศัพท์เราเพื่อเห็นความก้าวหน้าของเรา
นิสัยที่เล็ก ๆ เหล่านี้ เหมือนกันปรับองศาไม้กอล์ฟ ซึ่งมีผลยิ่งใหญ่มาก ในการทำให้คุณตีลงหลุมมาลองทบทวนนิสัยต่าง ๆ ของเราอย่างเสมอ สร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์มาทดแทนนิสัยที่เป็นอุปสรรคกันเถอะ ถ้าอยากได้ไอเดียว่าจะสร้างนิสัยอะไรดี ส่งข้อความมาหาเราได้ ที่นี่ค่ะ